ระบบเกียร์ Dual-Clutch ยิ่งรู้จักยิ่งเข้าใจ
เป็นกระแสที่กล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางในสัปดาห์ที่ผ่านมาทันที เมื่อมีกลุ่มลูกค้าที่ใช้รถ B-Car ยี่ห้อหนึ่ง พบปัญหาในการใช้งานชุดเกียร์ระบบ Dual clutch จนนำมาสู่การเรียกร้องต่อผู้ผลิตรถยนต์รุ่นดังกล่าว แต่ทว่าวันนี้เราไม่ได้จะมาพูดสาวความเรื่องราวของปัญหาดังกล่าว ทว่าจะพาไปรู้จัก เจาชุดเกียร์ที่หลายคนว่า ออกมาตามกระแสพูดปาวๆ ว่า ระบบเกียร์ Dual-Clutch ไม่เหมาะสำหรับประเทศไทย
ระบบเกียร์แบบคลัตช์คู่ หรือ Dual-Clutch นับว่าน่าจะเป็นระบบเกียร์ในโลกยุคใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังๆ นี่เอง โดยมันถูกคิดค้นครั้งแรกโดย Adolphe Kégresse วิศวกรทางทหารของชาวฝรั่งเศสในช่วงปี 1943 แต่แนวคิดของเขานั้น ก็ยังไม่มโอกาสเกิดขึ้นเป็นเวอร์ชั่นที่ใช้งานได้จริง เนื่องจากเหตุการณ์ของสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ดันมาถึงก่อน
แต่จนแล้วจนรอดแนวคิดของระบบเกียร์ Dual Clutch ก็เกิดขึ้น ภายใต้วิศวกรที่ผลิตรถยนต์จากเกาะอังกฤษ Harry Webster ผู้ให้กำเนิดรถยนต์ยี่ห้อ Triumph ก่อนที่จะเริ่มทดลองใช้กับรถยนต์ต้นแบบที่ผลิตใช้ในยุคนั้น ไม่ว่า Ford Fiesta Mk1, Ford Ranger รวมถึงรถยนต์ Peugeot 205 โดยช่วงแรกของการพัฒนา ใช้ชุดคลัทช์แห้งแผ่นเดียวหรือ หลายแผ่นซ้อนตามการออกแบบรองรับแรงบิด ก่อนที่จะจดสิทธิบัตรในปี 1981
หลังการออกแบบของแฮร์รี่ Volkswagen/Porsche ได้พัฒนาระบบเกียร์คลัทช์คู่ตามมา โดยเริ่มใช้กับรถแข่งของค่ายก่อนในช่วงปี 1980 ไม่ว่า Porsche 956 และ 962 ที่ใช้ในการแข่งขัน Le Mans ในปี 1983 และรถ Audi Sport Quattro S1 ที่ใช้ในการแข่งขัน Rally Car
แต่ไม่น่าแปลกใจที่ชุดเกียร์คลัทช์คู่จะใช้เวลายาวนานกว่า 20 ปี ในการเดินทางมาสู่มือของผู้บริโภค โดย Volkswagen Golf MK 4 R32 กลายเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลรุ่นแรกที่ติดตั้งระบบ เกียร์ดัง Dual Clutch ก่อนที่ในปี 2009 Volkswagen จะตัดสินใจในการพัฒนาระบบเกียร์ Dual clutch เข้าสู่รถยนต์นั่งมากขึ้น ก่อนที่ในปี 2010 จะมีการแนะนำระบบเกียร์ดังกล่าวในรถ BMW จากนั้น มันก็เริ่มเป็นที่นิยมในรถยนต์สมรรถนะสูงมากมายในตลาดชั้นนำ
ส่วนค่ายรถยนต์ที่ใช้รถยนต์เกียร์คลัทช์คู่ในรถยนต์นั่งมายาวนานอย่าง Ford ได้เริ่มการพัฒนาระบบเกียร์ Dual Clutch ภายใต้ความร่วมมือกับ Getrag แล้วให้กำเนิดชุดเกียร์คลัทช์คู่ PowerShift ในปี 2005 ก่อนเริ่มติดตั้ในรถยนต์ที่วางจำหน่ายในตลาดปัจจุบัน
ระบบเกียร์ Dual-Clutch เป็นระบบเกียร์ที่ทำงานแบบ Semi-Automatic ด้วยการผสานสองแนวคิด ระหว่างระบบเกียร์ธรรมดา 2 ลูก และระบบเกียร์อัตโนมัติ โดยแนวคิดของระบบเกียรืใหม่นี้เน้นในเรื่องการขึ้นเกียร์ตอบสนองอย่างรวดเร็วโดยไม่เสียจังหวะ และยังทำให้ผู้ขับขี่ได้อารมณ์การขับขี่ของระบบเกียร์ธรรมดา แต่การขึ้นเกียร์อย่างต่อเนื่องนั้นทำให้ลดการศูนย์เสียกำลังระหว่างการเปลี่ยนตำแหน่งไป
ที่มาของชื่อระบบเกียร์ Dual Clutch อยู่ที่ การออกแบบให้แต่ละราวเกียร์มีชุดคลัทช์ของตัวเอง โดยมากจะแบ่งกันออกเป็นระหว่างราวเกียร์ตำแหน่งเกียร์คู่ ( 2,4,6) และ ราวเกียร์ในตำแหน่งราวเกียร์คี่ (1,3,5) โดยชุดสมองกลเกียร์จะสั่งการทำงานให้ชุดเกียร์ตำแหน่งต่อไปรอเอาไว้จนกว่าจะถึงรอบหรือความเร็วที่กำหนด ในการเปลี่ยนเกียร์ครั้งต่อไป เพื่อให้เกิดทำงานอย่างต่อเนื่อง รวดเร็วและราบลื่น ซึ่งโดยส่วนใหญ่ ชุดเกียร์ Dual Clutch จะใช้เวลาเปลี่ยนเกียร์เฉลี่ย 0.05-0.2 วินาที โดยประมาณ และเคยมีผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ กล่าวกับเว็บ howstuffwork ว่า ชุดเกียร์คลัทช์คู่นั้นมีการทำงานดีกว่าเกียร์อัตโนมัติ ธรรมดาถึงร้อยละ 10 เลยทีเดียว
การออกแบบชุดเกียร์ Dual Clutch โดยทั่วไประบบจะใช้ชุดคลัทช์แผ่นเดียวในคลัทช์สองตำแหน่ง แต่อาจจะใช้แบบหลายแผ่นซ้อนก็ได้เพื่อให้สามารถรับแรงบิดจากเครื่องยนต์ได้มากขึ้น
รวมถึงตัวคลัทช์เองนั้นส่วนใหญ่แล้วจะใช้การออกแบบเป็นคลัทช์แบบเปียก เพื่อช่วยในการระบายความร้อนได้ดีในระหว่างการใช้งาน โดยมากแล้วจะใช้ในกรณีที่เครื่องยนต์มีกำลังแรงบิดสูงมากกว่า 350 นิวตันเมตร ขึ้นไปหรืออย่างเช่นรถยนต์ที่เร็วที่สุดในโลก Bugatti Veyron ก็มีการใช้คลัทช์เปียกแบบหลายแผ่นซ้อนในระบบเกียร์คลัทช์คู่เช่นกันเพื่อรับแรงบิดสูงสุด 1,250 นิวตันเมตรจากเครื่องยนต์ที่ทำกำลังสูง
ในขณะที่ผู้ผลิตเกียร์ส่วนใหญ่อาจจะตัดสินใจใช้ระบบคลัทช์แห้งเพื่อใช้ในรถยนต์นั่งขนาดเล็ก หรือรถยนต์ที่ไม่ได้มีกำลังเครื่องยนต์ที่มีแรงบิดมากถึง 250 นิวตันเมตร แต่ระบบคลัทช์แห้งนั้นก็ทำให้การถ่ายทอดกำลังดีกว่า ทำให้ตัวเลขอัตราประหยัดน้ำมันดีกว่า เนื่องจากจะไม่มีช่วงจังหวะเสียกำลัง เมื่อเทียบกับระบบคลัทช์เปียก แต่กลับกันก็อาจจะทำให้ในบางจังหวะเกียร์มีเสียงดังในการทำงาน เช่นในการทำงานระหว่างเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ เป็นต้น
อย่างไรก็ดีปัญหาของชุดเกียร์คลัทช์คู่ที่ส่งผลต่อการขับขี่ของผู้ใช้งานทั่วโลก รวมถึงในบ้านเรานั้น มาจากการที่ค่ายผูผลิตชุดเกียร์ ให้ความสำคัญต่อการขึ้นตำแหน่งเกียร์ที่เหมาะสมในการขับขี่ ทำให้ชุดเกียร์คลัทช์คู่อัดแน่นด้วยระบบคอมพิวเตอร์เพื่อคำนวนหาจุดระหว่างการขึ้นและลงเกียร์ที่เหมาะสม เพื่อสั่งงานชุดคลัทช์อย่างแม่นยำ ในตำแหน่งต่อไปว่า เมื่อไรควรจะขึ้นเกียร์ต่อไป
ทำให้หลายครั้งผู้ใช้มักจะพบว่าเกียร์อาจจะขึ้นตำแหน่งไม่เหมาะสม เช่นขึ้นตำแหน่งเร็วไป หรือ ช้าไป และส่งผลต่อการขับขี่ว่าจะกรณีรถติด ที่อาจจะพบอาการขึ้นเกียร์อย่างรวดเร็ว ทำให้รถพุ่งเร็วไปเกินความต้องการ หรืออาจจะยากต่อคุมคันเร่งเพื่อหาจุดที่เกียร์จะขึ้นตำแหน่งต่อไป นี่ยังไม่นับรวมบางจังหวะเช่นทางชัน หรือการขึ้นลานจอดรถ ซึ่งหลายท่านผู้ใช้ อาจจะพบว่าเกียร์ตอบสนองไม่ตรงความต้องการในการขับขี่
โดยเฉพาะด้วยการออกแบบให้ชุดเกียร์ทำงานคล้ายระบบเกียร์ธรรมดามากกว่าระบบเกียร์อัตโนมัติ ทำให้รถที่มาพร้อมระบบเกียร์ Dual Clutch บางรุ่นจะมีลักษณะดิบแบบเกียร์ธรรมดา เช่นคุณคิกดาวน์เพื่อเร่ง แต่รถตอบสนองช้าไปไม่ทันใจ เนื่องจากเกียร์คลัทช์คู่ทำงานแบบเกียร์ธรรมดา ใช้การขึ้นลงตำแหน่งเกียร์เป็นหลัก แต่ก็สามารถใช้การเลือกตำแหน่งเกียร์แบบ Toggle Switch เข้าช่วยได้
นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญว่า คุณอาจต้องเข้าใจตัวชุดเกียร์แบบคลัทช์คู่ก่อนว่า มันไม่ใช่ชุดเกียร์อัตโนมัติทั่วไป และมันไม่ได้เกี่ยวว่าคุณขับรถคันละหลายล้าน หรือขับรถคันละหลายแสน แต่ทั้งหมดทั้งปวงมีหนึ่งหัวใจสำคัญเรื่องเดียวที่ว่า เราต้องเข้าใจการทำงานที่แตกต่างก่อน
สำหรับตัวชุดเกียร์ PowerShift ของค่าย ford เองที่เป็นปัญหากับผู้ใช้งานนั้น ในรถยนต์รุ่น Ford Fiesta และ Ford Focus ทางค่ายฟอร์ดในต่างประเทศเองก็ประสบปัญหาดังกล่าว และพยายามที่จะมีการอัพเกรดระบบควบคุมสมองกลเกียร์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอเมริกา มีความพยายามในการร้องเรียนเรื่องดังกล่าวในหลายรัฐเช่นกัน แต่เรื่องดังกล่าวยังไม่เคยเป็นคดีในการเรียกตรวจสอบจากหน่วยงานความปลอดภัยทางถนนของรัฐบาลในอเมริกา
แม้ว่าเราอาจจะยังไม่รู้วาปัญหาระหว่างค่ายรถยนต์รายนี้ละผู้ใช้ชาวไทย ท้ายสุดจะไปจบลงที่ใด แต่อย่างน้องที่สุดวันนี้เราก็มีโอกาสที่จะพาผู้อ่านทุกคนรู้จักเข้าใจอย่างแท้จริงถึงการทำงานของชุดเกียร์คลัทช์คู่ ที่เริ่มมีใช้ในรถยนต์หลายรุ่นในตลาดปัจจุบัน