ผู้เขียน หัวข้อ: ปัญหาโลกแตก รถเกียร์ออโต ติดไฟแดงเข้าเกียร์ว่างหรือคาเกียร์ D แบบไหนดีกว่ากัน  (อ่าน 1984 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Far

  • บุคคลทั่วไป
ปัญหาโลกแตก รถเกียร์ออโต ติดไฟแดงเข้าเกียร์ว่างหรือคาเกียร์ D แบบไหนดีกว่ากัน

กลายเป็นปัญหาโลกแตกให้ขบคิดเหมือนกับเรื่องของไข่และไก่ว่าใครเกิดก่อนกัน เกจิผู้เชี่ยวชาญชำนาญการด้านรถยนต์รวมถึงพวกรู้มากรู้เยอะในวงการรถยนต์ต่างไม่มีใครยอมใครกับการตอบคำถามที่ว่า "รถเกียร์ออโต ติดไฟแดงเข้าเกียร์ว่างหรือคาเกียร์ D แบบไหนดีกว่ากัน" นักเลงรถบางคนบอกว่าเหยียบเบรกคาเกียร์ D เอาไว้เถอะ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างเกียร์ N และเกียร์ D เดี๋ยวเกียร์จะพังซะเปล่าๆ ส่วนเกจิอีกท่านก็บอกว่า ติดสัญญาณไฟจราจรนานๆ เกินกว่า 30 วินาที ให้ยัดเกียร์ออโตไปที่ตำแหน่งเกียร์ว่างหรือเกียร์ N แล้วดึงเบรกมือป้องกันรถไหลโดยไม่ตั้งใจ ยัดเกียร์ D เหยียบเบรกเอาไว้มันทั้งอันตรายและทำให้เกียร์สึกหรอเร็วกว่าปกติ เถียงกันไปเถียงกันมาจนผู้ใช้รถไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี งั้นลองมาดูความเป็นไปได้และความถูกต้องในการใช้งานเกียร์ออโตขณะจอดรอสัญญาณไฟแดงกันดีกว่า

คงต้องเน้นไปที่ความปลอดภัยในการใช้รถยนต์เกียร์อัตโนมัติ เมื่อคุณเข้าเกียร์ D แล้วเหยียบเบรกเอาไว้เพื่อรอสัญญาณไฟเขียว (ซึ่งนานมากโดยเฉพาะแถบสาทร สีลม แยกรัชโยธิน และ 5 แยกลาดพร้าว รวมถึงบริเวณที่กำลังมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าในช่วงเลิกงาน) ถึงแม้รถจะหยุดนิ่ง แต่ก็มีความเสี่ยงอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ จากความเผอเรอเมื่อน้ำหนักเท้าขวาที่กดลงไปบนแป้นเบรก เพียงแค่ผ่อนน้ำหนักที่แป้นเบรกนิดเดียว เกียร์ออโตที่ใส่ตำแหน่ง D หรือตำแหน่งของการขับเคลื่อนก็พร้อมที่จะทำให้รถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าทันที ผลก็คือไหลไปเสยท้ายรถชาวบ้านชาวแบบไม่ได้ตั้งใจแต่กลับทำให้คุณต้องเสียเงินเสียเวลา หากสภาพการจราจรเข้าขั้นจลาจล ติดหนักหนาสาหัสนานหลายนาที การเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์จาก D มายังตำแหน่ง N หรือตำแหน่งของเกียร์ว่างพร้อมๆ กับการใช้เบรกมือจะช่วยทำให้คุณใช้รถได้อย่างปลอดภัย

การเปลี่ยนเกียร์ออโตจากตำแหน่งเกียร์ D ไปยังตำแหน่งเกียร์ N หรือเกียร์ว่าง มีผลต่อการสึกหรอของชุดเกียร์ออโตไม่มากอย่างที่พวกรู้มากบางคนเข้าใจ ในรถยนต์ที่ใช้ชุดส่งกำลังแบบอัตโนมัติหรือเกียร์ออโต เมื่อยัดเกียร์ไปที่ตำแหน่งเกียร์ขับเคลื่อนหรือเกียร์ D ชุด Torque Covertor จะถูกเชื่อมเข้ากับชุดฟลายวีลที่ยึดโยงระหว่างเครื่องยนต์กับเกียร์ทันที แต่จากการที่คุณเหยียบเบรกเอาไว้เพื่อป้องกันการเคลื่อนที่ไม่ให้รถขยับขับเคลื่อนเนื่องจากมีแรงเบรกมากพอที่จะเอาชนะแรงบิดจากเครื่องยนต์ที่ส่งผ่านมายังเกียร์ซึ่งยังไม่มีแรงบิดมากพอ เพราะเครื่องยนต์อยู่ในรอบเดินเบา การเหยียบเบรกพร้อมกับใส่เกียร์ D จึงสามารถทำให้รถหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้ เกียร์ซึ่งกำลังหมุนในตำแหน่งขับเคลื่อนหรือเกียร์ D แต่โดนระบบห้ามล้อหรือเบรกมาหยุดเอาไว้ กับการใส่ตำแหน่งเกียร์ว่างหรือเกียร์ N ควบคู่ไปกับการดึงคันเบรกมือคาไว้จนกว่าจะได้สัญญาณไฟเขียว อย่างไหนจะสึกหรอพังเร็วมากกว่ากันสำหรับท่านที่มีภูมิปัญญาก็น่าจะมีความเข้าใจในจุดนี้ได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง

ระบบเกียร์อัตโนมัติ ทั้งเกียร์สายพาน CVT หรือเกียร์แบบทอร์คคอนเวอร์เตอร์ฟันเฟืองนั้นมีระบบหล่อลื่นด้วยน้ำมันเกียร์พร้อมแรงดันในระบบที่จะส่งถ่ายของเหลวหล่อลื่นไปทั่วเพื่อลดการสึกหรอและใช้หล่อลื่นกลไกภายใน การเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างเกียร์ D และเกียร์ N ในเกียร์อัตโนมัติยุคใหม่ ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เกียร์พังเร็วกว่า

กำหนดอย่างแน่นอน อยากจะบอกว่ารถส่วนตัวของผมมีอายุกว่า 18 ปีแล้ว เกือบทุกครั้งที่ติดสัญญาณไฟจราจรนานๆ เกิน 30 วินาที ผมจะขยับจาก D ไปที่ N แล้วดึงเบรกมือคาเอาไว้จนกว่าจะได้สัญญาณไฟเขียวแล้วค่อยเหยียบเบรก ปลดเบรกมือแล้วเลื่อนคันเกียร์ไปยังตำแหน่ง D พร้อมกับค่อยๆ ยกเท้าขวาออกจากแป้นเบรก เกียร์ออโตที่รับใช้มานานตั้งแต่ออกรถมาเมื่อ 18 ปีก่อน มีการบำรุงดูแลรักษาเปลี่ยนถ่ายของเหลวน้ำมันเกียร์ทุกๆ 2-3 หมื่นกิโลเมตร ไม่เปลี่ยนเกียร์เล่นบ่อยๆ แบบยัดขึ้นยัดลงหรือขับแบบลากรอบคาเกียร์ต่ำเอาไว้เพื่อเรียกแรงบิด ไม่พยายามขับลุยน้ำท่วมสูงๆ หรือแทบจะไม่เคยเอาไปลุยน้ำท่วมเลยแม้แต่ครั้งเดียวโดยการใช้งานหลักๆ เกียร์จะอยู่ในตำแหน่ง D แล้วปล่อยให้ชุดทอร์คคอนเวอร์เตอร์ทำงานไปตามสมองกลเกียร์หรือ ECU

เนื่องจากไม่ได้มีบ้านอยู่บนภูเขาที่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนเกียร์ขึ้น-ลงบ่อยครั้ง เกียร์ออโต 4 สปีดของค่าย GM ที่ติดมากับรถตั้งแต่ป้ายแดงก็ยังไม่เคยเกิดปัญหาจนต้องเข้ารับบริการซ่อมแซมแม้แต่ครั้งเดียว เขียนบอกแบบนี้พวกเกจิรู้มากก็จะเข้ามาสวนว่ามันไม่ถูกต้องไปทั้งหมด ความเชื่อดังกล่าวในวงการรถยนต์นั้นเต็มไปด้วยผู้รู้ (มาก) ที่ไม่เคยมีใครยอมใคร แถมยังบอกว่าของคนอื่นนั้นผิดของตนนั้นถูก ลองคิดเอาเองนะครับว่าในระบบเกียร์อัตโนมัติของรถยนต์ที่มีอายุอานามปาเข้าไป 18 ปีแล้วนั้น หากใช้งานไม่ถูกต้อง รวมถึงยังปล่อยปละละเลยดูแลไม่ดี ผมคงโดนค่าซ่อมเกียร์หรือค่ายกเกียร์ใหม่ทั้งลูกไปนมนานแล้วล่ะครับ.