น้ำยาหล่อเย็นหม้อน้ำ สำคัญจริงเหรอ
น้ำยาหล่อเย็น (Coolant ) คืออะไร จำเป็นต่อระบบเครื่องยนต์มากแค่ไหน ทำไมถึงต้องเติมเข้าไปในระบบหม้อน้ำ ใช้แค่น้ำเปล่าอย่างเดียวไม่ได้เหรอ ฯลฯ คำถามเหล่านี้ หลายๆ คนอาจรู้คำตอบดีอยู่แล้ว แต่กับบางคนที่เป็นมือใหม่ หรือขับเป็นอย่างเดียว แต่ดูแลไม่เป็น ลองมารู้จักกับมันดูก่อน เพื่อจะได้เข้าใจถึงความสำคัญ และความจำเป็นต่อระบบของน้ำยาหล่อเย็นมากขึ้น
สำหรับ น้ำยาหล่อเย็น (Coolant) ส่วนประกอบหลักของมันจะมี น้ำ, สารหล่อเย็น(ETHYLENE GLYCOL), หัวเชื้อป้องกันสนิม และสีต่างๆ ฯลฯ ซึ่งถ้าพูดถึงคุณสมบัติจริงๆ ของมันแล้ว น้ำยาหล่อเย็น ไม่ได้มีหน้าที่ระบายความร้อน แต่จะช่วยทำให้จุดเดือดของน้ำที่ผสมน้ำยาหล่อเย็นสูงขึ้น ทำให้น้ำที่อยู่ในหม้อน้ำเดือดช้าลง
นอกจากคุณสมบัติข้างต้นแล้ว น้ำยาหล่อเย็น (Coolant ) ยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีกมากมาย ดังนี้
1. ป้องกันน้ำในระบบแข็งตัวเป็นน้ำแข็งในจังหวะสตาร์ทเครื่องยนต์ใหม่ๆ ซึ่งในบ้านเราจะไม่เห็นผลเท่าใดนัก เพราะเป็นเมืองร้อน
2. เพิ่มจุดเดือดน้ำ คือชะลอการระเหยของน้ำในระบบหล่อเย็นเมื่อเครื่องยนต์ร้อนจัด เพราะเวลาน้ำเดือดมันจะระเหยกลายเป็นไอที่ 100C ํ ซึ่งถ้าผสมน้ำยาหม้อน้ำลงไปก็จะระเหยที่ 105 / 110 / 115 องศาเซลเซียส ตามสัดส่วนที่เราผสมลงไป
3. ป้องกันการเกิดสนิม ตะกรัน ตะกอน เพราะเมื่อมีสนิมมันก็จะผุ กร่อน มีตะกอน น้ำยาจึงช่วยไม่ให้มีการอุดตันในรังผึ้งของหม้อน้ำ
4. หล่อลื่นปั๊มน้ำ ซีลปั๊มน้ำ และวาล์วน้ำ
และนี่คือความสำคัญของ น้ำยาหล่อเย็น (Coolant) ที่มีประโยชน์ต่อเครื่องยนต์มากๆ ซึ่งหากเราไม่ใช้ หรือไม่เติมน้ำยา ใช้แค่น้ำเปล่าอย่างเดียวก็ได้ แต่มันจะส่งผลเสียต่อระบบระบายความร้อน และเครื่องยนต์อย่างรวดเร็ว เพราะหม้อน้ำรถยนต์ในปัจจุบันมักทำมาจากอะลูมิเนียม ทำให้สามารถเกิดสนิม ตะกรัน ตะกอน และเกิดการกัดกร่อนได้ง่าย โดยเราสามารถตรวจสอบได้ด้วยการถอดท่อยางที่ต่อจากหม้อพักน้ำออกมาดู จะเห็นได้ว่ามันจะมีคราบ และร่องรอยของการเกิดตะกรัน ซึ่งหากร้ายแรงมากๆ อาจถูกกัดกร่อนจนแตก ผุ แหว่ง และนี่เองจะเป็นสาเหตุที่ทำให้หม้อน้ำ แผงหม้อน้ำ และทางเดินน้ำเกิดการอุดตัน หรือรั่วซึม จนทำให้ระบบระบายความร้อนออกมาได้ไม่ดี น้ำในหม้อน้ำแห้ง จนเครื่องร้อนจัด และความร้อนขึ้น หรือก็คือโอเวอร์ฮีทนั่นเอง
ส่วนการผสมใช้งาน น้ำยาหล่อเย็น (Coolant) กับน้ำ ส่วนมากจะผสมกันในอัตราส่วน 50/50 หรือดูวิธีผสมได้ที่ข้างขวดของน้ำยายี่ห้อนั้นๆ และระยะการเปลี่ยนถ่ายก็ขึ้นอยู่กับรถแต่ละรุ่น หรือน้ำยาที่ใช้ด้วย เช่น บางรุ่นกำหนดไว้ทุกๆ 2 ปี หรือ 40,000 กิโลเมตร และบางรุ่นกำหนดไว้ที่ 100,000 – 200,000 กิโลเมตร ฯลฯ (ศึกษาดูเพิ่มเติมจากคู่มือยี่ห้อรถนั้นๆ)
นอกจากนี้หากมีเวลา ควรเปิดฝากระโปรงหน้าอาทิตย์ละครั้งเพื่อสังเกตน้ำในหม้อน้ำ และหม้อพักน้ำสำรอง เพื่อจะได้รู้ทัน หากเกิดความผิดปกติขึ้นกับหม้อน้ำ เช่น น้ำในหม้อน้ำอยู่ต่ำกว่าระดับที่กำหนด, น้ำแห้งเร็วเกินไป, มีคราบของน้ำยาหล่อเย็นหยด หรือเปื้อนตามจุดต่างๆ ที่เครื่องยนต์ และบนพื้นที่จอด ฯลฯ (สีของน้ำยาหม้อน้ำที่รั่วซึมจะสังเกตได้ง่าย เพราะสีที่ผสมเข้าไป เช่น สีเขียว สีชมพู ฯลฯ)
ที่มา
www.sanook.com