จุดเริ่มต้นของโฟล์คเต่ามีขึ้นเมื่อ 22 มิถุนายน 1934 เมื่อคณะกรรมการสมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งชาติเยอรมนี หรือ RDA-REICHSVERBAND DER DEUTSCHEN AUTOMOBILINDUSTRIE ได้มอบหมายให้ดร.เฟอร์ดินัน พอร์ชออกแบบรถยนต์ของประชาชน (PEOPLE’S CAR) ซึ่งในภาษาเยอรมันเรียกว่า VOLKSWAGEN นั่นเอง
โฟล์คเต่ารุ่นต้นแบบคันแรกเสร็จสิ้นการพัฒนาเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 1936 มาพร้อมระบบช่วงล่างแบบทอร์ชันบาร์ ระบบเบรกเป็นแบบกลไกก้านบังคับ ไม่ใช่ระบบไฮดรอลิกเหมือนรถยนต์ปัจจุบัน และที่เครื่องยนต์มีการติดตั้งยางแท่นเครื่อง ซี่งหลายคนมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดยางแท่นเครื่อง ตัวเครื่องยนต์เป็นแบบระบายความร้อนด้วยอากาศ มีให้เลือกทั้งแบบ 2 จังหวะ และ 4 จังหวะ ที่มีกำลังสูงสุด 22.5 แรงม้า (HP)
ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 1936 รุ่นต้นแบบหรือ V3 (ซึ่งมีการผลิตออกมา 3 คัน) ถูกนำมาทดสอบด้วยการแล่นเป็นระยะทางกว่า 50,000 กิโลเมตร ก่อนมีการทดสอบต่อเนื่องภายใต้รหัสโครงการ VVW30 และหลังจากนั้นไม่นานคณะกรรมการก็เห็นชอบในเรื่องเครื่องยนต์ หลังจากถกเถียงกันอยู่นานก็มาลงตัวที่บล็อก 4 สูบนอน หรือบ็อกเซอร์ ระบายความร้อนด้วยอากาศ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการพัฒนาจะมีขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 แต่กว่าที่โฟล์คเต่า จะได้รับการผลิตเพื่อจำหน่ายสู่ตลาดต้องรอกันจนถึงเดือนธันวาคม 1945 หรือหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง โดยในเดือนนั้นมีการผลิตออกมาเพียง 55 คันเท่านั้น
ในปี 1947 จึงมีการผลิตเวอร์ชั่นส่งออกในเดือนสิงหาคม โดยบริษัท PON BROTHERS กลายเป็นผู้แทนจำหน่ายของโฟล์คสวาเกนในเนเธอร์แลนด์และนำเข้าโฟล์คเต่าจำนวน 56 คัน เข้าไปทำตลาด จากนั้นอีก 1 ปี จึงเริ่มขยายตัวออกสู่ตลาดประเทศอื่น เช่น เบลเยี่ยม เดนมาร์ก ลักเซมเบิร์ม สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปที่สหรัฐอเมริกาในวันที่ 8 มกราคม 1949
รุ่นเปิดประทุนของโฟล์คเต่ามีขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 1949 โดยคาร์มานน์เป็นผู้รับผิดชอบในการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะในตลาดใหม่อย่างสหรัฐอเมริกา
ความจริงแล้วโครงการผลิตรุ่นเปิดประทุนของโฟล์คเต่ามีมาตั้งแต่ปี 1948 ในยุคที่มีไฮน์ริช นอร์ดฮอฟฟ์เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้จัดการโรงงานโฟล์คสวาเกน ซึ่งเขาเป็นผู้ปรับปรุงระบบการผลิต และเป็นคนที่เอ่ยประโยคอมตะ “THE BEETLE HAS AS MANY FAULT AS A DOG HAS FLEAS” ที่แสดงให้เห็นถึงรอยรั่วของระบบการผลิต ซึ่งมีมากเหมือนกับหมัด-เห็บบนตัวสุนัข
นอร์ดฮอฟฟ์ใช้เวลานานในการคิดหาทางออกเพื่อกระตุ้นให้ยอดจำหน่ายของโฟล์คเต่ามีมากขึ้นและในปี 1948 เขาได้ว่าจ้าง JOSEPH HEBMULLER COMPANY ผลิตรุ่นต้นแบบของโฟล์คเต่าเปิดประทุนออกมา 3 คัน โดยมีข้อบังคับว่าจะต้องใช้ชิ้นส่วนของรุ่นแฮทช์แบ็ก (หรือในเอกสารของโฟล์คสวาเกนเรียกว่า SEDAN) ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
JOSEPH HEBMELLER ได้รับโอกาสในการผลิตโฟล์คเต่าเปิดประทุนในเวอร์ชั่นหรูพร้อมกับตกแต่งรายละเอียดภายในอย่างสุดบรรเจิด ซึ่งสวนกับหลักการพื้นฐานของตัวรถ ขณะที่คาร์มานได้รับงานผลิตแบบยกล็อตสำหรับคนทั่วไป ผลที่ได้คือตลอด 4 ปี ที่ทำตลาด เวอร์ชั่นเปิดประทุนของ JOSEPH HEBMULLER ผลิตขายได้เพียง 696 คัน เท่านั้น
โฟล์คเต่ากลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ รถขายดีเหมือนแจกฟรี ในปี 1950 ทำยอดผลิตครบ 100,000 คัน และเพิ่มเป็น 250,000 คัน ในปี 1951 ซึ่งเป็นตัวเลขของยอดการผลิตพุ่งพรวดสวนทางกับวัตถุดิบที่มีอยู่ในตลาด จนทำให้ต้องหยุดการผลิต และลดชั่วโมงทำงานลงชั่วคราว แต่ถึงกระนั้นในปี 1952 ยอดผลิตต่อปีของโฟล์คเต่าก็เกิน 100,000 คันเป็นครั้งแรก และในปี 1953 ก็ฉลองครบ 5 แสน คัน โดยที่ในช่วงเวลานั้น โฟล์คเต่าครองส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์นั่งของเยอรมันตะวันตกใน(ตอนนั้น) ถึง 42.5%
ในปี 1955 ตัวเลขการผลิตครบ 1ล้านคัน และในปี 1967 ฉลองการผลิตครบ 10 ล้านคัน โดยมีโรงงานผลิตทั้งหมด 5 แห่งในเยอรมนี คือ เมืองฮันโนเวอร์ คาสเซล บรันสวิค เอมเดน และล่าสุดคือโวล์ฟบวร์ก
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 1972 เป็นวันที่ปวงชนชาวโฟล์คสวาเกนไม่มีวันลืม เพราะยอดการผลิตของโฟล์คเต่าอยู่ที่ 15,007,034 คัน ซึ่งเท่ากับว่าสามารถแซงหน้า สถิติเดิมของ ฟอร์ด โมเดล ทีได้สำเร็จ ทำให้โฟล์คเต่ากลายเป็นรถยนต์ที่มียอดผลิตสูงสุดในโลก (ก่อนที่จะโดนรุ่นกอล์ฟแซงในปี 2002)
จุดสิ้นสุดแห่งยุคโฟล์คเต่าสำหรับตลาดยุโรปเริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970 เมื่อโฟล์คสวาเกนเปิดตัวรถยนต์รุ่นกอล์ฟออกมา ซึ่งทำให้ลูกค้าในยุโรปเริ่มหันไปสนใจกับผู้มาใหม่รุ่นนี้กันมากขึ้น จนทำให้โฟล์คสวาเกนตัดสินใจยุติการผลิตของโรงงานโวล์ฟบวร์ก ในปี 1974 และเอมเดนในปี 1978 โดยโฟล์คเต่าคันสุดท้ายที่ผลิตในเอมเดนเมื่อวันที่ 19 มกราคม ถูกส่งเข้าไปเก็บในพิพิธภัณฑ์เมืองโวล์ฟบวร์ก
ส่วนรุ่นเปิดประทุนคันสุดท้ายออกจากสายการผลิตของโรงงานคาร์มานน์ในออสนาบรักเมื่อวันที่ 10 มกราคม 1979 รวมแล้วรุ่นเปิดประทุนถูกผลิตออกสู่ตลาด 330,281 คัน
แม้ว่าในยุโรปจะเลิก แต่โรงงานในเม็กซิโกที่เริ่มเดินเครื่องมาตั้งแต่ปี 1965 ก็ยังทำหน้าที่ผลิตต่อไปและวันที่ 15 พฤษภาคม 1981 ฉลองการผลิตครบ 20 ล้านคันที่โรงงานแห่งนี้
อย่างไรก็ตามในวันที่ 31 กรกฎาคม 2003 ถือเป็นอีกวันที่บีทเทิลมาเนียต้องจดจำเพราะว่าจะเป็นวันสุดท้ายของการผลิตโฟล์คเต่าที่โรงงานในเมือง PUEBLA เม็กซิโก ซึ่งเป็นโรงงานแห่งเดียวที่ยังผลิตอยู่
แต่ก่อนที่จะจากกันโฟล์คสวาเกนก็ผลิตเวอร์ชันพิเศษออกมาเรียกเงินในกระเป๋าลูกค้าด้วยเวอร์ชันULTIMA EDICION กับสีตัวถัง 2 แบบ คือ เบจและฟ้า ด้วยจำนวนการผลิตจำกัดเพียง 3,000 คัน เท่านั้น