เรามักจะได้ยินข่าวเรื่องของรถที่พุ่งลงแม่น้ำ หรือตกลงมาจากตึก จนเป็นเหตุสลดตามหน้าหนังสือพิมพ์ข่าวอยู่เรื่อยๆ ซึ่งบ่อยครั้งที่มักลงเอยด้วยการบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับ 'เกียร์อัตโนมัติ' ได้อย่างไร
รถตกน้ำ-ตกตึก สาเหตุเกิดจากอะไร
ผู้ขับขี่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า หากเราขยับคันเกียร์ไปที่ตำแหน่ง D รถจะสามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้เอง โดยไม่ต้องเหยียบคันเร่ง ซึ่งปกติรถจะทำความเร็วได้ประมาณ 10 กม./ชม. และอาจมากกว่านั้นหากเป็นทางลาด
สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการเข้าเกียร์โดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะคันเกียร์สามารถขยับจากตำแหน่งว่าง (N) มาเป็น D ได้โดยไม่ต้องกดปุ่ม การเอี้ยวตัวไปหยิบสิ่งของในรถ อาจทำให้อวัยวะบางส่วนของร่างกาย ไปเลื่อนตำแหน่งคันเกียร์จาก N ไปยัง D โดยไม่ตั้งใจ รถจึงเคลื่อนที่ได้เองโดยไม่รู้ตัว
หากผู้ขับขี่มีความชำนาญก็จะเหยียบเบรคในทันที ทำให้ไม่เกิดความเสียหายใดๆ แต่ผู้ขับขี่ที่ไม่ชำนาญ อาจตัดสินใจในสถานการณ์เช่นนี้ไม่ถูก และเผลอไปเหยียบคันเร่งซ้ำเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นเบรค ทำให้รถพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วจนเกิดอุบัติเหตุตามมา
อีกกรณีหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุคล้ายๆกัน นั่นคือ การจอดรถในตำแหน่งเกียร์ D โดยไม่เหยียบเบรค แต่ใช้ทางเนินลาดชัน หรือร่องถนน หรือที่ห้ามล้อใดๆก็แล้วแต่ (ลองนึกถึงขอบปูนสำหรับถอยหลังเข้าซองตามห้างสรรพสินค้า) เป็นตัวยับยั้งไม่ให้รถเคลื่อน โดยหารู้ไม่ว่าการตัดต่อของระบบคอมเพรสเซอร์แอร์ มีผลทำให้กำลังของรถเพิ่มขึ้น ทำให้เมื่อแอร์ตัด รถจะสามารถเคลื่อนที่ผ่านสิ่งกีดขวางเหล่านั้นได้เอง โดยไม่ต้องเหยียบคันเร่ง
อันตรายขนาดนี้วิธีป้องกันทำอย่างไร
จริงๆแล้วการใช้เกียร์อัตโนมัติไม่ได้อันตรายขนาดนั้น เพียงแต่ผู้ขับต้องไม่ประมาท และปฏิบัติขั้นตอนการขับขี่อย่างถูกวีธี
หากผู้ขับจำเป็นต้องเอื้อมหรือหันตัวไปทางด้านข้างหรือด้านหลัง ควรใส่เกียร์ที่ตำแหน่ง P เสียก่อน เพื่อป้องกันการเข้าเกียร์โดยไม่ตั้งใจ และไม่ควรใช้ขอบปูน หรือที่ห้ามล้อใดๆเป็นตัวช่วยไม่ให้รถเคลื่อนโดยไม่เหยียบเบรค เนื่องจากรถยังมีแรงส่งตลอดเวลา ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
สำคัญที่สุดคือการใช้รถอย่างชำนาญ เพื่อที่จะสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ถูกวิธี การสับสนกันระหว่างแป้นคันเร่งและเบรคอาจดูเป็นเรื่องตลกสำหรับผู้ชำนาญ แต่เกิดขึ้นจริงกับมือใหม่หัดขับทั้งหลาย ซึ่งต้องได้รับการเรียนรู้จนเกิดเป็นความเคยชิน