ผู้เขียน หัวข้อ: ทำเองก็ได้ไม่ยาก วิธีดูแลแบตเตอรี่ในรถยนต์ของคุณ  (อ่าน 1967 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Far

  • บุคคลทั่วไป
ทำเองก็ได้ไม่ยาก วิธีดูแลแบตเตอรี่ในรถยนต์ของคุณ

แบตเตอรี่ในรถยนต์เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ ของการขับใช้งานรถยนต์ แบตเตอรี่ถูกออกแบบมาเพื่อทำหน้าที่ป้อนกระแสไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องยนต์ ระบบไฟส่องสว่างและระบบต่างๆ ที่ต้องการกระแสไฟฟ้าไปเลี้ยงเพื่อให้ทำงานได้ เช่น มอเตอร์สตาร์ต ระบบจุดระเบิด ในขณะที่ทำการสตาร์ตเครื่องยนต์ หากไฟในแบตฯ ไม่พอ จะไม่สามารถสตาร์ตเครื่องยนต์ให้ติดได้เลย นอกจากนี้ แบตเตอรี่ยังทำหน้าที่ป้อนพลังงานให้กับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกหลายๆ อย่าง เช่น ระบบปรับอากาศ ที่มีการใช้กระแสไฟฟ้าป้อนให้กับมอเตอร์ของพัดลม ไฟส่องสว่างทั้งไฟหน้า ไฟเลี้ยว ไฟท้าย ไฟเบรก รวมถึงไฟภายในห้องโดยสาร

หน้าที่ของแบตเตอรี่คือเก็บไฟฟ้าสำรองที่ได้รับจากการหมุนของไดร์ชาร์จ เมื่อไดร์ชาร์จซึ่งเป็นอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้า ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทัน เช่น การขับขี่ในตอนกลางคืนที่ต้องใช้ไฟมากกว่าปกติ ไฟส่องสว่างรวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ จะดึงกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาใช้ ขณะเดียวกัน ถ้าไดร์ชาร์จทำงานได้ดีขึ้นหรือหมุนเร็วขึ้น ก็จะมีกระแสไฟฟ้าซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานของไดร์ชาร์จเหลือจากการใช้งาน กระแสไฟจะถูกส่งกลับเข้าไปยังแหล่งเก็บไฟฟ้าสำรองหรือแบตเตอรี่จนกว่าจะเต็ม แบตเตอรี่จะจ่ายไฟออกอย่างเดียวเฉพาะตอนสตาร์ตเครื่องยนต์เท่านั้น เพื่อส่งกระแสไฟเข้าสู่มอเตอร์สตาร์ต และระบบต่างๆ ของเครื่องยนต์ เมื่อเครื่องยนต์สตาร์ตติด และเครื่องยนต์เริ่มต้นการทำงานแล้ว ไดร์ชาร์จก็จะทำหน้าที่ประจุไฟเข้าแบตเตอรี่อย่างต่อเนื่อง เป็นวงจรการทำงานง่ายๆ โดยกระแสไฟฟ้าจะถูกจ่ายออกไปจากแบตฯ และถูกประจุเพิ่มหมุนเวียนเข้าออกแบตเตอรี่อยู่เสมอ

เมื่อแบตเตอรี่ในรถของคุณเกิดไฟหมด ซึ่งเกิดจาก 2 สาเหตุหลักก็คือ
1. แบตเตอรี่อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถเก็บไฟได้อีกต่อไป หรือหมดอายุการใช้งาน

2. ไดร์ชาร์จทำงานผิดปกติ เสียหรือทำงานบกพร่อง ทำให้ประจุไฟเข้าไปยังแบตเตอรี่ได้น้อยมาก ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน หรือไดร์ชาร์จพังจนไม่สามารถประจุไฟเข้าแบตฯ ได้เลย

แบตเตอรี่รถยนต์มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ

1. แบตเตอรี่แบบแห้ง (Maintenance Free) เป็นแบตฯ ราคาแพง (มาก) ที่ไม่ต้องดูแลรักษาอะไรกันให้มากเรื่องมากราว เนื่องจากไม่ต้องเติมน้ำกลั่น แบตฯ ชนิดแห้งมีความทนทานและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า รวมถึงยังมีราคาที่สูงกว่าแบตฯ แบบเปียกอยู่พอสมควร แบตเตอรี่แบบแห้งนี้จะมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าแบตฯ แบบอื่น อายุการใช้งานของมันเฉลี่ยประมาณ 5-10 ปี แบตเตอรี่แบบแห้งไม่มีฝาปิด-เปิดสำหรับเติมน้ำกลั่น ตัวแบตเตอรี่ถูกซีลทับทั้งลูก แต่บางยี่ห้อมีช่องไว้สำหรับไว้คอยตรวจเช็กระดับน้ำกรด และระดับไฟที่กักเก็บอยู่ภายใน

2. แบตเตอรี่แบบเปียก เป็นแบตฯ ที่รถยนต์ส่วนใหญ่นิยมใช้ แบตฯแบบเปียกแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบที่ต้องเติม และดูแลน้ำกลั่นบ่อยๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง กับแบบไม่ต้องดูแลบ่อย (Maintenance Free) ซึ่งจะกินน้ำกลั่นน้อยมาก โดยทั้ง 2 แบบนี้จะมีฝาปิด-เปิดสำหรับเติมน้ำกลั่น ในแบบแรกนี้จะมีอายุการใช้งานโดยประมาณ 1.5-2 ปี แต่ไม่ควรเกิน 3 ปี ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับสภาพการใช้งาน และการดูแลรักษา ถ้ามีการดูแลรักษาอยู่สม่ำเสมอก็จะทำให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อแบตฯ เกิดหมดอายุการใช้งานก็สมควรที่จะเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่ได้เลย สำหรับแบตเตอรี่แบบเปียกนั้นมีอายุการใช้งานไม่เกิน 3 ปี

เมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ในรถยนต์
การเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่ เมื่อคุณไม่ได้เป็นพวกบ้าอุปกรณ์ไฟฟ้าพวกเครื่องเสียง 3 หมื่นวัตต์ที่พร้อมจะทะลวงหูคนทั้งหมู่บ้าน หรือเป็นคนสายตาไม่ค่อยจะดี ขับรถตอนกลางคืนก็มองไม่ค่อยจะเห็น เลยยัดระบบไฟส่องสว่างพวกสปอตไลท์จนกินกระแสไฟมากกว่าปกติแบบเปิดทีสว่างไป 2 กิโลเมตร ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่มีขนาดของแอมป์ให้สูงขึ้นแต่อย่างใดทั้งสิ้น รถยนต์ทั่วไปในปัจจุบันมีการคำนวณขนาดของแบตเตอรี่ที่มีความเหมาะสมกับความต้องการมาจากโรงงานแล้ว การเปลี่ยนแบตฯ ที่มีแอมป์สูงมากกว่าเดิมทำให้คุณเสียเงินโดยใช่เหตุ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายทุกแบรนด์นั้น มีการพัฒนาและทดสอบอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะปล่อยรถรุ่นใหม่ออกวางขาย โดยขั้นตอนของการทดสอบนั้น จะมีการเลือกขนาดของแบตเตอรี่ที่จะใช้ติดตั้งในรถ โดยเลือกขนาดของแบตฯ และความจุให้เหมาะสมกับความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าของรถรุ่นนั้นๆ อยู่แล้ว แต่หากมีการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม เช่น เครื่องเสียงพลังสูงที่กินกระแสไฟมากกว่าปกติ ส่วนใหญ่เจ้าของรถเหล่านั้นรู้ดีว่าแบตเตอรี่เดิมๆ นั้นไม่เพียงพอต่อการใช้งานอย่างแน่นอน จึงทำการเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่มีขนาดของแอมป์สูงขึ้น

สำหรับข้อพึงระวังของรถยนต์ที่เปลี่ยนขนาดของแบตฯ ให้ใหญ่ขึ้นก็คือ แบตเตอรี่ที่มีขนาดของแอมป์นั้นมีขนาดที่ใหญ่โตตามความจุ ฐานของแบตเตอรี่เดิมติดรถจึงไม่สามารถรองรับขนาดของแบตฯ ที่ใหญ่ราวกับแบตฯ รถบรรทุก กลายเป็นปัญหาที่ต้องย้ายหรือระเบิดจุดวางแบตฯ กันใหม่ ซึ่งตามมาด้วยเรื่องปวดหัวอีกพอสมควร ข้อควรระวังในการเปลี่ยนแบตฯ ใหม่ก็คือ ห้ามลดขนาดของแอมป์เด็ดขาด เช่น แบตฯ เดิมจากโรงงานมีความจุ 65 แอมป์ แต่นำเอาแบตฯ ใหม่ที่มีความจุเพียงแค่ 45 แอมป์มาลงแทน ใช้งานไปได้ไม่นานแบตฯ ก็จะเกิดปัญหาในเรื่องไฟไม่พอตามมาให้รำคาญกันอีก ส่วนการเพิ่มขนาดความจุของแบตฯ สำหรับรองรับเครื่องเสียงกำลังขยายมากๆ หรือติดอุปกรณ์ไฟเพิ่มรกรุงรังทั้งคันนั้น สามารถขยายความจุของแบตฯ เพิ่มขึ้นอีก 10-30 แอมป์ได้เลย แต่ควรเตรียมหาที่หาทางให้แบตเตอรี่ที่ใหญ่ขึ้นด้วยก็แล้วกัน

การชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ หรือการประจุไฟเข้าไปในแต่ละครั้งนั้น ควรจะเลือกใช้การชาร์จอย่างช้าเอาไว้ และทิ้งไว้ซักประมาณ 5-10 ชั่วโมง โดยเฉพาะในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพได้ช้าลง และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น แต่ตามร้านที่เปลี่ยนแบตเตอรี่โดยทั่วไปมักจะใช้วิธีชาร์จเร็วเพื่อรีบให้บริการลูกค้าซึ่งจะใช้เวลาน้อยเกินไป ควรชาร์จไฟทิ้งข้ามคืนไว้อย่างน้อย 10 ชั่วโมง ข้อควรระวังในการทำงานกับแบตเตอรี่ เนื่องจากในแบตเตอรี่รถยนต์นั้นมีสารเคมีอยู่ภายใน เช่น สารตะกั่ว น้ำกรด เป็นต้น ดังนั้นในการทำงานกับแบตเตอรี่ เช่น การเติมน้ำกลั่นหรือชาร์จไฟ ควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

เลือกใช้แบตเตอรี่อย่างไร

1. รถแบบเดิมๆ ที่ไม่มีการเพิ่มเติมอุปกรณ์ไฟฟ้า การเลือกใช้แบตเตอรี่แบบแห้งหรือแบบที่ไม่ต้องเติมน้ำกลั่นจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า โดยเฉพาะท่านที่ไม่ค่อยได้ดูแลรถบ่อยๆ หรือไม่ค่อยมีความรู้เรื่องรถมากนัก

2. รถที่มีการแต่งหรือเพิ่มเติมอุปกรณ์ไฟฟ้าเข้าไปภายหลังเช่นเครื่องเสียง-ไฟตัดหมอก-ขนาดไฟหน้าที่สว่างกว่าเดิม การเลือกใช้แบตฯธรรมดาที่เติมน้ำกลั่นจะดีกว่าเพราะการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าจำนวนมากในรถทำให้เกิดการประจุและการนำกระแสไปใช้งานนั้นจะมากและรุนแรงถ้าใช้แบตฯ แบบแห้งจะทำให้อายุงานของแบตฯ แห้งนั้นสั้นลงอย่างมาก

3. การเลือกใช้แบตฯ แห้งนั้นค่อนข้างจะเป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควร เนื่องจากแต่ละยี่ห้อนั้นออกแบบแตกต่างกันไปในเรื่องซีลหรือระบบทางเดินเดียวของรูหายใจ ตลอดจนกระแสที่ใช้ในการชาร์จหรือประจุเข้าที่เหมาะสมกับแบตฯ ชนิดนี้คือการประจุแบบช้า จึงค่อนข้างมีปัญหาต่อการประจุเร็วและรุนแรงของรถที่ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าจำนวน มากๆ

4. ค่าความจุของแบตเตอรี่ ค่าที่เขียนติดมากับแบตเตอรี่จะเห็นเป็นตัวเลขและตัวอักษร เช่น 12V 60Ah หมายถึงแบตเตอรี่มีค่าแรงดัน 12 โวลต์ และมีค่าการปล่อยกระแสคงที่ 60 แอมแปร์-ชั่วโมง แต่โดยทั่วไปจะคิดกันที่ 20 ชั่วโมง หรือกระแสที่จ่ายคงที่ของแบตฯ ตัวนี้คือ 3 แอมแปร์ในเวลา 20 ชั่วโมง ส่วนมากแบตฯ ที่ติดรถมาจะมีค่าความจุที่ต่ำสุดที่เพียงพอต่อการใช้งานเท่านั้น ถ้ามีการเปลี่ยนแบตฯ ตัวใหม่ควรเพิ่มค่าให้มากกว่าเดิม 5-10Ah เช่นตัวเดิม 12V 60Ah ถ้าเปลี่ยนตัวใหม่ควรจะเป็น 12V 65Ah หรือ 12V 70Ah เป็นต้นเนื่องจากว่าเมื่ออายุงานรถมากขึ้นอุปกรณ์ต่างๆ เช่นสายไฟจะมีความเป็นตัวนำลดลงทำให้กระแสสูญเสียไปกับความร้อนที่เกิดขึ้น การเผื่อค่าการจ่ายกระแสมากขึ้นเพื่อป้องกันความเสียหายหรือเหตุการณ์ที่อาจเกิดจากกระแสไม่เพียงพอต่อการใช้งาน

5. ถ้าเป็นแบตฯ ที่ต้องเติมน้ำกลั่น ครั้งแรกที่ซื้อแบตฯ ใหม่ทางร้านจะเติมกรดและทำการประจุหรือชาร์จไฟให้แม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่การกระทำดังกล่าวบางครั้งก็ทำให้แบตฯ เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ บางครั้งแค่ปีเดียวก็เสื่อมสภาพแล้วเนื่องจากการเติมกรดครั้งแรกควรจะทิ้งไว้ราว 1-2 ชั่วโมงก่อนที่จะนำไปประจุหรือชาร์จไฟเพื่อให้แผ่นธาตุทำปฏิกิริยากับกรดอย่างเต็มที่ก่อน และการประจุหรือชาร์จไฟนั้นควรใช้แบบกระแสต่ำชาร์จนานๆ แต่ทางร้านส่วนใหญ่มักจะใช้กระแสสูงและชาร์จเร็วเพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่าย ซึ่งถ้าเป็นลักษณะนี้แค่เติมกรดแล้วทิ้งไว้สองชั่วโมงจากนั้นนำมาติดตั้งในรถเพื่อใช้ไฟจากรถเป็นตัวประจุหรือชาร์จยังจะดีเสียกว่า

6. ควรเลือกซื้อแบตฯ ที่มีตาแมวหรือช่องสำหรับดูค่าความถ่วงจำเพาะหรือสถานะของแบตเตอรี่เพราะราคาก็แพงกว่าชนิดที่ไม่มีช่องดูไม่เท่าไหร่ แต่ช่องตาแมวดังกล่าวสามารถบอกเราได้ว่าสถานะแบตเตอรี่ขณะนั้นเป็นอย่างไร เช่น ไฟเต็ม-ไฟอ่อน-ต้องถอดไปประจุหรือไม่มีไฟ ถ้าเป็นแบบที่ไม่มีช่องดูเวลาเกิดปัญหาที่ต้องวิเคราะห์เกี่ยวกับระบบไฟจำต้องใช้เครื่องมือวัดค่าความถ่วงจำเพาะมาตรวจสอบ ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยมีร้านซ่อมซื้อมาใช้ แต่อาจจะเหมาลอยๆ ได้เลยว่าแบตฯ เสียต้องเปลี่ยนแบตฯ แต่ถ้ามีตาแมวให้ดูเราสามารถแย้งได้เลยว่าแบตฯ ไฟเต็ม จะว่าแบตฯ เสียนั้นไม่ใช่แน่ๆ

วิธีการถนอมแบตเตอรี่รถยนต์ โดยวิธีง่ายๆ หากว่าเรารู้จักการถนอมดูแลรักษาแบตเตอรี่ให้ถูกวิธี จะช่วยยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่รถยนต์ของเราได้ไปอีกหลายปีเลยทีเดียว ซึ่งเราสามารถทำได้เองด้วยวิธีการง่ายๆ ดังต่อไปนี้

1. ตรวจสอบสภาพของแบตเตอรี่เสมอ อย่าให้มีรอยแตกร้าว เพราะจะทำให้แบตเตอรี่ไม่เก็บประจุไฟฟ้า

2. ดูแลขั้วแบตเตอรี่ให้สะอาดเสมอ ถ้ามีคราบเกลือเกิดขึ้น ให้ทำความสะอาดโดยใช้น้ำร้อนราดลงไปบนคราบขี้เกลือ

3. ตรวจสภาพของระดับน้ำกลั่นแบตเตอรี่ทุกๆ 1 สัปดาห์

4. ตรวจเช็กระบบไฟชาร์จของอัลเตอร์เนเตอร์ ว่าระบบไฟชาร์จต่ำหรือสูงไป ถ้าต่ำไป จะมีผลทำให้กำลังไฟไม่พอใช้ในขณะสตาร์ตเครื่องยนต์ หรือถ้าสูงไปจะทำให้น้ำกรดและน้ำกลั่นอยู่ภายในระเหยเร็วหรือเดือดเร็วได้ ในช่วงเวลาเดียวกัน

5. ช่วงที่มีอากาศหนาวหรืออุณหภูมิต่ำ ประสิทธิภาพการแพร่กระจาย ของน้ำกรด และน้ำกลั่นจะด้อยลง เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้กระแสไฟมากๆ ขณะอากาศเย็น

6. ควรศึกษาถึงการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ให้เหมาะสมกับแบตเตอรี่และไดชาร์จ เพื่อที่จะให้วงจรการไหลของไฟฟ้าเป็นไปด้วยดี

7. ควรเติมน้ำกลั่นให้ได้ตามระดับที่กำหนด ไม่ควรเติมต่ำหรือสูงเกินไป (เติมสูงไป เป็นสาเหตุหลักทำให้ขี้เกลือขึ้นเร็ว แบตฯ สกปรกเร็ว)

เมื่อเราใช้แบตเตอรี่ไปได้สัก 1 ปีครึ่ง หรือ 2 ปี แบตเตอรี่จะเริ่มเสื่อมสภาพ หากสังเกตดีๆ เมื่อแบตเตอรี่ใกล้เสื่อมสภาพจะมีสัญญาณเตือนดังนี้

1. เครื่องยนต์เริ่มสตาร์ตติดยาก

2. ไฟหน้าไม่ค่อยสว่าง

3. ระบบกระจกไฟฟ้าทำงานช้าลง

4. ระบบไฟฟ้าในรถทำงานผิดปกติ

เมื่อมีสัญญาณเตือนดังนี้ ก็เข้าร้านที่ไว้ใจได้ เปลี่ยนแบตเตอรี่ได้เลยครับ บางครั้ง หากมีการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าในรถยนต์เพิ่ม แบตเตอรี่ก็ควรถูกปรับเปลี่ยนความจุให้มีมากขึ้นด้วย ซึ่งหากมีการติดตั้งแบตเตอรี่ใหม่ในยานพาหนะ ควรปฏิบัติดังนี้

1. สังเกตว่าแบตเตอรี่ใหม่ ซึ่งจะใช้ติดรถ อยู่ในสภาพไฟเต็ม

2. ควรบันทึกวันที่เริ่มใช้แบตเตอรี่ใหม่ ไว้เพื่อการตรวจสอบสภาพ เป็นช่วงๆ ร้านแบตเตอรี่หรือร้านไดนาโมบางร้าน ส่วนใหญ่เมื่อเปลี่ยนแบตฯ ลูกใหม่ให้กับลูกค้าใช้วิธีการตอกตัวเลขวันเดือนปีที่เริ่มใช้แบตฯ ลงไปบนตัวแบตเตอรี่เลยทีเดียว

3. ยึดแบตเตอรี่และแท่นวางแบตเตอรี่ให้แน่น ไม่เคลื่อนไหว

4. ถ้าแบตเตอรี่มีท่อยาวระบายอากาศ อย่าให้ท่อระบายอากาศถูกกดทับเพราะอาจทำให้แบตเตอรี่ระเบิดได้

5. ใส่ขั้วไฟก่อน (อาจเป็นขั้วบวกหรือขั้วลบก็แล้วแต่ชนิดของรถ) ก่อนใส่ควรขยายขั้วสวมให้โตกว่าขั้วแบตเตอรี่เล็กน้อย ห้ามตอกขั้วต่ออัดลงไปเพราะจะทำให้ขั้วแบตเตอรี่ทรุดตัว แบตเตอรี่อาจเสียหายได้

6. เมื่อต่อขั้วเรียบร้อย ทาหัวขั้วแบตฯ ทั้งบวกและลบด้วยจาระบีเพื่อป้องกันคราบขี้เกลือ

7. ต่อขั้วดินเป็นอันดับสุดท้าย