กระจกเป็น ฝ้า ทำยังไงถึงจะหายไป?
ช่วงนี้ฝนตกบ่อย นอกจากจะทำให้รถเปรอะเปื้อนไปด้วยคราบน้ำฝน ฝุ่น และดินโคลนแล้ว บางครั้งมันก็ทำให้เราขับรถลำบาก ทัศนวิสัยไม่ดีอีกด้วย เนื่องจากความเย็นของอากาศที่ไม่สัมพันธ์กันทั้งภายใน และภายนอกรถ จนทำให้เกิด ฝ้า ขึ้นนั่นเอง
จริงๆ แล้วนอกจากฤดูฝนที่ทำให้เกิดฝ้าแล้ว ฤดูหนาวเองก็สามารถเกิดฝ้าได้เช่นกัน ซึ่งหากเกิดฝ้าขึ้นที่กระจกหลัง ก็คงจะไม่เป็นปัญหาเท่าใดนัก เพราะรถยนต์ส่วนใหญ่จะมีตัวไล่ฝ้าติดอยู่ที่กระจกหลัง โดยตัวมันนั้นทำมาจากเส้นลวดนิกเกิ้ล หรือไม่ก็ทองแดง ซึ่งจะฝังอยู่บนผิวหน้าของกระจก และเมื่อเปิดใช้งาน กระแสไฟจะวิ่งเข้าไปที่ขดลวด จากนั้นจึงจะเกิดความร้อนขึ้นมา ทำให้หยดน้ำ หรือฝ้าที่เกาะอยู่ที่กระจกระเหยหายไป แต่คงต้องระวังกันนิดนึง เพราะหากไม่มีตัวตัดการทำงานอัตโนมัติ เมื่อกระจกแห้งสนิทดีแล้ว ควรกดปุ่มปิดทันที ไม่อย่างนั้นขดลวดที่ร้อนเกินไป อาจทำให้กระจกแตก หรือเสียหายได้
แต่สำหรับฝ้าที่เกิดขึ้นกับกระจกบานหน้า และด้านข้าง ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวไล่ฝ้า เพราะมันมีเฉพาะแค่กระจกบานหลังเท่านั้น ซึ่งสาเหตุที่เกิดฝ้าขึ้นมาเป็นเพราะ อุณหภูมิความชื้นภายใน และภายนอกแตกต่างกัน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ข้อ ดังนี้
1. ฝ้าที่เกิดขึ้นกับกระจกด้านนอกห้องโดยสาร เป็นเพราะอุณหภูมินอกรถสูงกว่าภายใน
2. ฝ้าที่เกิดขึ้นกับกระจกด้านในห้องโดยสาร เป็นเพราะอุณหภูมิภายในรถสูงกว่าภายนอก
สำหรับวิธีแก้ไข เพื่อทำให้ทัศนวิสัยในระหว่างการขับขี่กลับมาเป็นปกติ สามารถทำได้ง่ายๆ คือ
1. ปรับความเย็นของแอร์ เพิ่ม หรือลด ให้สมดุลกัน เพื่อทำให้อุณหภูมิภายในกับภายนอกเท่ากัน หรือแตกต่างกันไม่มาก
2. ปรับเปลี่ยนทิศทางช่องลม ไม่ให้หันไปที่กระจก
3. ใช้ที่ปัดน้ำฝน หรือใช้ผ้าเช็ด (ในกรณีที่ใช้ผ้าเช็ด ควรจอดรถก่อน เพื่อความปลอดภัย)
4. เปิดกระจกแง้มไว้เล็กน้อยสักพักนึง (หากฝนตกไม่หนัก) เพื่อให้อุณหภูมิภายในกับภายนอกเท่ากัน
5. เปิดช่องรับอากาศจากด้านนอกเข้ามาภายในห้องโดยสาร เป็นวิธีที่ทำให้อุณหภูมิภายนอก และภายในเท่ากันเร็วที่สุด แต่มันก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในรถด้วยเช่นกัน จนอาจทำให้ตู้แอร์ตัน หรือชำรุดเสียหายได้
สุดท้ายนี้ต่อให้ไล่ฝ้าออกไปได้ แต่หากเจอฝนตกหนักมากๆ ก็ควรขับรถด้วยความระมัดระวังมากขึ้นเป็นพิเศษ หรือถ้าไม่ชำนาญในการขับขี่ ไม่ชินเส้นทาง ควรจะหาที่แวะข้างทางที่ปลอดภัยก่อนดีกว่า ไม่เช่นนั้นแล้วหากฝืนขับต่อไปอาจเกิดอุบัติเหตุได้
ที่มา
www.sanook.com