ผู้เขียน หัวข้อ: ‘Vintage Car’ ศิลปะที่น่าสะสมแบบติ๊ก กลิ่นสี  (อ่าน 2598 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Mor

  • Type3
  • ***
  • กระทู้: 384
  • คะแนนพิษสวาท +1/-1
หนุ่มใหญ่ที่หลายๆ คนยกให้เขาเป็นผู้นำแห่งความเพี้ยนแบบเกรียนฮามาก่อนใครอื่น ในรายการที่เขาเป็นพิธีกร รวมถึงละครโทรทัศน์หรือหนังที่เขาร่วมแสดงหรือเป็นผู้กำกับการแสดง ต้องบรรจุเอาจริตแห่งความเพี้ยน มันส์ ฮา จนสาแก่ใจให้กับผู้ชมได้หัวเราะกันแบบท้องคัดท้องแข็ง
       
       ชาญณรงค์ ขันทีท้าว ผู้บริหารและหุ้นส่วนบริษัท ทริปเปิ้ล ทู จำกัด หรือที่รู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมืองว่า ติ๊ก กลิ่นสี
       เขามีรถบ้านใช้อยู่ 2 คัน แต่กลายเป็นอดีตไปแล้ว ขายทิ้งไปหนึ่ง และจอดแช่ไว้หนึ่ง กลายเป็นห้องส่วนตัวไว้พักผ่อนที่บ้านแทนที่จะไปโลดแล่นบนท้องถนน

       “มีอยู่ครั้งหนึ่งที่คิดว่าน่าจะมีรถบ้านไว้นอนเวลาไปทำงาน ตัวนี้ซื้อมาจากต่างประเทศ 600,000 บาท ก็เอารถที่ยาวหน่อย มีที่นอน ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น ใช้คุ้มแล้ว ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว นำมาจอดในบ้านเป็นที่พัก เพราะเวลาเอาออกไปขับยากมาก เป็นรถพ่วง จะเข้าซ้ายต้องเลี้ยวขวา สลับกัน ก็มีความรู้สึกว่ายาก แต่ก็มีอีกคันหนึ่งขับได้เลย แต่ก็ขายไปแล้ว เป็นรถกระบะใช้มาระยะหนึ่งแล้วไม่ค่อยได้ใช้ก็ขายไป โอเคมาเล่นรถโบราณอย่างเดียวดีกว่า” ติ๊กสาธยายถึงอดีตเกี่ยวกับรถบ้าน ซึ่งเขาตื่นเต้นกับมันอยู่ช่วงหนึ่ง
       
       ปัจจุบันเมื่อเข้าไปในบ้านของเขา บริเวณหน้าบ้านที่เป็นที่จอดรถจะพบรถโฟล์คเต่า หรือรุ่น Beetle อยู่ 1 คัน จอดเคียงคู่กับรถโฟล์คเช่นกัน แต่เป็น Volkswagen Type 3 หรือ Volkswagen 1600 เขาบอกว่าเหมือนเป็นสิ่งที่ตกแต่งหรือพร็อพแต่งบ้านไปในตัวด้วย และเล่าถึงที่มาของความคลั่งไคล้รถโฟล์ควินเทจ
       “รถโฟล์คคันแรก ไฟท้ายทับทิม ปี 1962 ซื้อมาแบบไม่รู้เรื่องอะไรเลย 90,000 บาท ก็ทำไปเรื่อย หลายแสน แต่ทำดีเลย เครื่อง 1800 ซีซี อู่ที่รู้จักกัน ตอนนั้นเริ่มต้น เขาให้ทำอะไรก็ทำหมด แต่คันนั้นขายไปแล้ว ก็มาเอารถโฟล์คเต่าของลีโอ พุฒ”
       
       จุดที่น่าสังเกตอีกอย่างของรถทั้ง 2 คันนี้ คือทะเบียน 1112 เหมือนกัน ซึ่งติ๊กบอกว่า รถบ้านเขาต้องทะเบียนนี้เท่านั้น เพราะบวกกันแล้วได้ 5 เป็นเลขที่ดีที่สุดของทะเบียนรถ
       ติ๊กบอกว่า Volkswagen Type 3 คันนี้ ตัวเขาไปพ่นสีเองที่อู่ แล้วก็ขูดสีให้เหมือนงานศิลปะ เป็นรถคันที่เขาภูมิใจมาก
       
       “ตอนเด็กผมชอบรถโบราณ ก็คิดว่าจะไหวหรือเปล่า ผมชอบรถเฟียตด้วย FIAT 500 Topolino ยังอยู่ที่อู่ ไม่ได้เอามา ผมมีเฟียตอยู่ 3 คัน ก็ซื้อมาทำให้เนี้ยบ อย่างรถที่เราซื้อมาในปัจจุบัน เวลาเราขายออกไปราคามันแตกต่างจากตอนซื้อมามาก แต่รถคลาสสิกหรือวินเทจพวกนี้ราคาไม่ตก ราคาก็ไปของมันเรื่อยๆ แต่ผมก็ทำไปมากทีเดียว เพราะผมชอบ”

       การเล่นรถวินเทจสไตล์คลาสสิกนั้น ต้องเป็นคนที่รู้จักสืบเสาะเลาะหารถเก่าๆ ในที่ต่างๆ เพื่อให้ได้มาครอบครองเป็นสมบัติส่วนตัว ซึ่งค่อนข้างหายากอยู่พอสมควร สำหรับติ๊ก กลิ่นสี สิ่งเหล่านี้ไม่อยู่ในสารบบของเขา
       “ผมไม่ได้ออกไปหารถเลยนะ ถึงจังหวะมันจะมาหาเองถ้าจะเป็นของเรา อย่างขับรถไปเจอโดยบังเอิญ รถคันนี้มันเข้าท่าว่ะ อยู่ตรงนี้ก็จำไว้ วันหนึ่งเราก็ได้เป็นเจ้าของ ในฐานะที่ผมเรียนศิลปะ ผมชอบรถวินเทจเหล่านี้ ลองดูที่ความโค้ง การดีไซน์รถของเขา ปัจจุบันนี้ไม่มีทางทำได้ เพราะต้องใช้แรงและฝีมือของคน รายละเอียดจะแตกต่างกับรถปัจจุบัน ซึ่งเรียบไม่มีรายละเอียด คนสมัยก่อนเขาเนี้ยบมาก คิดฟังก์ชั่นทุกอย่าง ใช้ฝีมือในการขึ้นรูป แล้วความโค้งมนของรูปร่างตัวถังรถทำให้รู้สึกว่าอ่อนโยน แสดงว่าจิตใจคนสมัยก่อนเขาอ่อนโยน เวลาทำอะไรก็เป็นโค้งเป็นเคิร์ฟ การระบายลมหรืออะไรก็มีหูช้าง สมัยนี้ไม่มีแล้ว เป็นสูตรสำเร็จ ราคามันคงไปเรื่อยๆ ผมเก็บเอาไว้ ไม่ใช่นักปล่อยของ คือซื้อมาเพราะชอบ และให้อยู่กับเราไปนานๆ”
       
       แน่นอน ติ๊กยอมรับว่า เล่นรถวินเทจก็ต้องใช้กำลังทรัพย์และความอดทน แต่เป็นความสุข
       “ก็เอาเงินที่ได้จากการไปถ่ายละคร กันเงินไว้ส่วนหนึ่งมาทำ มาซื้อไอ้โน่นไอ้นี่ใส่เข้าไป ถือว่าเป็นความสุขในส่วนที่งอกเงยมาจากรายได้ของเรา มาทำในสิ่งที่เราชอบ สุขทั้งกายทั้งใจ ดูไม่มีค่าอะไรหรอก แต่ว่าเรามีรถไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะการตกแต่งเป็นคันเดียวในโลก ดูแบบโบราณ สิ่งตกแต่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ใส่ในรถก็มีของที่ไปหามาด้วยความชอบ ความสุข
       
       “เราแต่งรถสวยงามเพื่อขับสวยงาม อย่างซูเปอร์คาร์มันแรงมันเร็ว แล้วใครจะมองเห็นล่ะ นี่ชิลล์ๆ ขับไปเรื่อย ผมชอบอย่างนี้มากกว่า ความเป็นตัวตนของเราเป็นอย่างนั้นมากกว่า ผมเก็บรถไว้ด้วย มูลค่ามันก็ต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้อายุดั้งเดิมของรถก็ตีประมาณ 50 ปี แต่ก็ดีที่ยังมีช่างซึ่งซ่อมรถพวกนี้ได้อยู่ มีคนที่เล่นอยู่ทั่วโลก มีหนังสือที่เกี่ยวกับรถพวกนี้โดยเฉพาะ ยังมีของอยู่มากมายที่เราสามารถเล่นรถพวกนี้ได้อย่างมีความสุข ก็เลยมีความรู้สึกว่าตรงนี้เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง”


       เรื่อง : สุทธิชัย อังกูรจรรยา
       ภาพ : พานุวัฒน์ เงินพจน์