ผู้เขียน หัวข้อ: ผลดี-ผลเสีย? เลิก ”โซฮอล์91”  (อ่าน 1634 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Far

  • บุคคลทั่วไป
ผลดี-ผลเสีย? เลิก ”โซฮอล์91”
« เมื่อ: ตุลาคม 11, 2014, 04:16:11 PM »
ผลดี-ผลเสีย? เลิก ”โซฮอล์91”

คงทำให้ผู้ใช้รถยนต์กลุ่มเบี้ยน้อยหอยน้อยเกิดอาการจิตตกไปบ้างเมื่อมีกระแสว่าสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กำลังศึกษายกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91

เดินตามรอยรัฐบาลชุดก่อน ที่ยกเลิกขายน้ำมันเบนซิน 91 ไปแล้ว

เหตุผลยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 สนพ.มองว่าเพื่อให้การพัฒนาพลังงานทดแทนขยายตัวมากขึ้น เพราะหัวจ่ายน้ำมันในสถานีบริการที่เคยขายแก๊สโซฮอล์ 91 จะว่างลง แล้วนำน้ำมัน อี85 มาใส่แทน ซึ่งปัจจุบันมีหัวจ่ายน้อยจะได้เพิ่มขึ้น

อันที่จริงแนวคิดเรื่องการยกเลิกน้ำมันแก๊สโซฮอล์91หรือชื่อเต็มๆ คือ "แก๊สโซฮอล์ อี10 ออกเทน 91" มีการศึกษาเมื่อ 3 ปีก่อนแล้ว แต่เป็นไปอย่างคร่าวๆ ยังไม่ใช่ผลสรุปเชิงลึก เพราะยังไม่มีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการโรงกลั่น และผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7

คราวนี้จึงนำมาปัดฝุ่นอีกครั้ง จริงจังมากขึ้น โดยมอบให้ สนพ.และกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เป็นเจ้าภาพในการจ้างที่ปรึกษา และหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

โจทย์ของรัฐบาลก็คือ ทำให้การใช้น้ำมันของไทยมีประสิทธิภาพ และมีชนิดน้ำมันที่ไม่หลากหลายชนิดเกินไป เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในโลก

จากการประเมินเบื้องต้นของ สนพ. หากยกเลิกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 จะมีทั้งผลดีและผลเสีย

ผลดีที่เห็นชัดคือ การขนส่งไม่ยุ่งยาก สามารถขนส่งได้ต่อครั้งปริมาณมากขึ้น และยังทำให้ผู้ค้าน้ำมันเปลี่ยนหัวจ่ายไปจำหน่ายน้ำมัน อี85 ง่ายขึ้น

ส่วนผลเสียอาจทำให้โรงกลั่นน้ำมันได้รับภาระจากการยกเลิกผลิตน้ำมันชนิดดังกล่าว

แต่สำหรับชาวบ้านคนใช้รถอาจต้องตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงต้องการยกเลิกน้ำมันที่มีราคาถูก 35.78 บาทต่อลิตร แทนที่จะยกเลิกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ซึ่งมีราคาสูงกว่า คือ 37.80 บาทต่อลิตร

แบบนี้บีบให้ต้องใช้ของแพงหรือเปล่า

มีคำตอบจาก "มนูญ ศิริวรรณ" นักวิชาการด้านพลังงาน อดีตผู้บริหาร บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า แม้จะยกเลิกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 แต่ผู้บริโภคยังมีทางเลือกขึ้นอยู่กับความพอใจ คือ ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 แพงกว่าเดิมแต่คุณภาพดีกว่า หรือใช้น้ำมัน อี20 และอี85 โดยเฉพาะน้ำมัน อี20 มีส่วนผสมของออกเทนเช่นเดียวกับแก๊สโซฮอล์ 95 แต่ราคาถูกกว่าไม่น้อย คือ 33.98 บาทต่อลิตร

การเปลี่ยนแปลงนี้ยังช่วยลดชนิดน้ำมันของประเทศให้ลดลง จากปัจจุบันไทยถือเป็นประเทศที่มีชนิดน้ำมันมากที่สุดของโลก จนผู้ค้าน้ำมันทั้งไทยและต่างชาติท้วงติงมาตลอดหลายปี

ส่วนความกังวลเรื่องโรงกลั่น นักวิชาการด้านพลังงานรายนี้ชี้ว่า มีผลกระทบเล็กน้อย คือส่วนผสมน้ำมันเบนซิน อาทิ แนฟทา ในการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อาจต้องหันไปส่งออกแทน แต่เชื่อว่าจำนวนไม่มาก ไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโรงกลั่นของประเทศแน่นอน

สุดท้ายคุณมนูญค่อนข้างมั่นใจว่า การยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 จะส่งผลดีมากกว่าผลเสีย

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่ามีผลดีมากกว่าผลเสียจริงหรือไม่ ไปสำรวจเปรียบเทียบปริมาณการจำหน่ายน้ำมันกลุ่มเบนซินช่วง 8 เดือนของปีนี้ (มกราคม-สิงหาคม) กับตัวเลขย้อนหลัง 2 ปี

แม้จะพบว่า ชนิดน้ำมันกลุ่มเบนซินที่คนไทยนิยมเติมมากที่สุด คือ แก๊สโซฮอล์ 91 เนื่องจากระดับราคาที่ถูกกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ประกอบกับความเชื่อว่า แก๊สโซฮอล์ 91 ประสิทธิภาพดีกว่า สิ้นเปลืองน้ำมัน น้อยกว่าน้ำมันอีก 2 ชนิดที่รัฐบาลกำลังสนับสนุน คือ น้ำมัน อี20 และน้ำมัน อี85

แต่จากสถิติช่วง 2 ปีหลังคือ ระหว่างปี 2555-2556 จนถึง 8 เดือนแรกปีนี้ พบว่าน้ำมัน 2 ชนิดหลัง มีการใช้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้จะมีปริมาณไม่มาก เพราะหัวจ่ายน้อย แต่หากคิดเป็นสัดส่วนต้องถือว่าเติบโตแบบก้าวกระโดด ดังนี้

น้ำมัน อี20 ช่วง 8 เดือนของปีนี้ ปริมาณการใช้เฉลี่ย 3.5 ลิตรต่อวัน ขณะที่ปี 2556 ปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 2.638 ลิตรต่อวัน และปี 2555 ปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.002 ลิตรต่อวัน

น้ำมัน อี85 ช่วง 8 เดือนของปีนี้ ปริมาณการใช้เฉลี่ย 0.8-0.9 ลิตรต่อวัน ขณะที่ปี 2556 ปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 0.385 ลิตรต่อวัน และปี 2555 ปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 0.098 ลิตรต่อวัน

จึงเป็นแรงจูงใจหนึ่งที่อาจทำให้รัฐบาลเชื่อว่า ถ้ายกเลิกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 แล้ว คนไทยยังมีทางเลือกที่ถูกกว่า

อยู่ที่ภาครัฐจะสนับสนุนการขยายสถานีบริการได้กว้างขวางเพียงใด