ผู้เขียน หัวข้อ: การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า กับ 10 เหตุการณ์ที่เจอกันบ่อยๆ  (อ่าน 3744 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Far

  • บุคคลทั่วไป
การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า กับ 10 เหตุการณ์ที่เจอกันบ่อยๆ  :boy047:

แม้เราจะใช้ความระมัดระวังในการเดินทางอย่างดีแล้ว แต่ก็อาจเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นได้จากหลายสาเหตุ   การรับมือและแก้ไขที่ถูกต้องจะช่วยลดความเสียหาย และอันตรายที่จะเกิดลงได้  ในระดับหนึ่ง
 
1. ยางแตก
เมื่อยางระเบิดหรือแตกกระทันหัน ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงความเร็วใด ต้องจับพวงมาลัยให้มั่นคง พยายามรั้งไว้ให้ตรงทิศทาง อย่ากระชากเด็ดขาด ไม่ตกใจกดเบรกอย่างกระทันหัน เพราะรถยนต์อาจหมุนปัดเป๋เสียการทรงตัวได้ ให้ถอนคันเร่ง
 
การลดความเร็ว สามารถใช้เบรกได้เพียงเบา ๆ และต้องเหยียบสลับกับการปล่อย เพื่อไม่ให้น้ำหนักถ่ายลงด้านหน้ามากเกินไป ถ้ายางที่แตกไม่ใช่ล้อขับเคลื่อน ก็สามารถใช้เกียร์ช่วยในการลดความเร็วได้
 
หากต้องการเปลี่ยนยาง ควรดึงเบรกมือก่อนการขึ้นแม่แรง ป้องกันรถยนต์ไหล แต่ถ้ามีที่สูบลมติดรถยนต์ไว้ และยางที่แบนไม่ได้รั่วเป็นรูขนาดใหญ่ ก็สามารถสูบลมยางให้แข็งกว่าปกติสัก 5-10 ปอนด์/ตารางนิ้ว และค่อย ๆ ขับต่อไปจนถึงร้านเปลี่ยนยางก็ได้
 
2. เบรกแตก
รถยนต์ทุกรุ่นในปัจจุบันใช้น้ำมันเบรกเป็นตัวถ่ายทอดแรงดันระหว่างการกดของเท้าไปยังผ้าเบรก เสมือนเป็นระบบไฮดรอลิกชนิดหนึ่ง ดังนั้นจึงอาจมีการรั่วซึมขึ้นได้ จากการรั่วของลูกยางตัวใดตัวหนึ่งหรือท่อน้ำมันเบรกรั่ว การถ่ายทอดแรงดันก็จะสูญเสียลงไป
 
ระบบเบรกมักแบ่งการทำงานออกเป็น 2 วงจร อาจเป็นแบบล้อคู่หน้าและล้อคู่หลัง หรือเป็นแบบไขว้ล้อหน้าซ้าย-ล้อหลังขวา และล้อหน้าขวา-ล้อหลังซ้าย เผื่อว่าวงจรใดวงจรหนึ่งชำรุด เพื่อให้ระบบยังมีประสิทธิภาพการทำงานหลงเหลืออยู่บ้าง
 
ดังนั้น เมื่อเบรกแตกหรือน้ำมันเบรกเกิดการรั่ว ส่วนใหญ่มักหลงเหลือประสิทธิภาพการทำงานอยู่หลายสิบเปอร์เซ็นต์ หรืออีกไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งในอีกวงจร
 
ตั้งสติให้มั่นคง เมื่อเหยียบแป้นเบรกลงไปแล้วลึกต่ำกว่าปกติ ต้องเหยียบซ้ำแรง ๆ และถี่ ๆ เพื่อใช้แรงดันในวงจรที่เหลือยู่ ผ้าเบรกจะได้สร้างแรงเสียดทาน ขึ้นมาบ้าง พร้อมกับการลดเกียร์ต่ำครั้งละ 1 เกียร์ จนกว่าจะถึงเกียร์ต่ำสุด แล้วค่อยใช้เบรกมือช่วย โดยการกดปุ่มล็อกค้างไว้ให้สุด เพื่อไม่ให้เบรกจนล้อล็อก ดึงขึ้นแล้วปล่อยสลับกันไป เพื่อลดความเร็ว ถ้าระบบเบรกชำรุดทุกวงจร ต้องใช้การลดเกียร์ต่ำช่วยเป็นหลัก แล้วค่อยดึงเบรกมือช่วย เมื่อไล่ลงจนถึงเกียร์ต่ำสุดแล้ว
 
รถยนต์ที่ใช้ระบบเบรกที่มีเอบีเอส ถ้าต้องการเบรกกระทันหัน อย่าเหยียบแล้วปล่อยสลับกันถี่ ๅ แบบเทคนิคการเบรกในยุคเก่า เพราะเอบีเอสจะตัดการทำงานและไม่สามารถป้องกันการล้อล็อกได้ ต้องเหยียบลงไปให้แน่น ๆ แล้วควบคุมพวงมาลัยไปยังทิศทางที่ควรจะไป นั่นคือวิธีที่ถูกต้องเมื่อต้องเบรกกระทันหันในรถยนต์ที่มีเอบีเอส
 
3. รถหลุดออกจากทาง
อาจเป็นเพราะหักหลบสิ่งกีดขวางอย่างกระทันหัน ทำให้ไถลออกนอกเส้นทาง เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ควรตั้งสติให้มั่น ไม่ควรเหยียบเบรกอย่างแรง เพราะอาจทำให้ล้อล็อกหรือลื่นไถลจนเสียการทรงตัว
 
วิธีที่ถูกต้อง ควรลดความเร็วด้วยการแตะเบรกแล้วปล่อย พร้อมกับการลดจังหวะเกียร์เพื่อใช้เครื่องยนต์ช่วยในการชะลอความเร็วอีกเล็กน้อย นอกจากนั้น สายตายังต้องมองทางไปข้างหน้า เพื่อหลบสิ่งกีดขวาง ไม่ควรหักหลบทันทีเพราะอาจพลิกคว่ำได้
 
4. คันเร่งค้าง
รถยนต์เกียร์ธรรมดา ให้ใช้เบรกในการชะลอความเร็วโดยไม่ต้องแตะคลัตช์ ให้ใช้คลัตช์เฉพาะในการเปลี่ยนเกียร์ เพื่อช่วยลดความเร็วลงเมื่อจำเป็น และประคองรถยนต์เข้าสู่ไหล่ทางพร้อมกับใช้ปลายเท้าสอดเข้าใต้แป้นคันเร่งเพื่องัดขึ้น
 
หากแป้นคันเร่งไม่สามารถงัดขึ้นได้ ให้บิดกุญแจเพื่อดับเครื่องยนต์ แต่อย่าบิดกุญแจกลับไปจนถึงจังหวะที่พวงมาลัยล็อก และใช้เบรกชะลอความเร็วลงเรื่อย ๆ จนถึงไหล่ทาง
 
5. เครื่องยนต์ร้อนจัด-น้ำหม้อน้ำแห้ง
 
ถ้าไม่ได้เกิดจากการรั่วซึมผิดปกติ แต่เกิดจากการหลงลืมเติมน้ำหม้อน้ำ ก็สามารถเติมน้ำเข้าไปให้เต็มได้ เพราะถ้ามีการรั่วเติมลงไปก็รั่วออกมาอีก
 
การเติมน้ำ ต้องมีเทคนิคและใจเย็น จอดรถยนต์หลบในที่ปลอดภัย ดับเครื่องยนต์ รอให้เครื่องยนต์เย็นลงบ้าง หาผ้าหนา ๆ และผืนกว้างพอสมควร เช่น ผ้ายางรองพื้นในรถยนต์ คุลมฝาหม้อน้ำให้มิด แล้วบิดออกเล็กน้อยก่อน เพื่อให้แรงดันภายในคลายตัวออกบ้าง เมื่อแรงดันคลายตัวออกมามากในช่วงระยะเวลาประมาณ 2-3 นาที ค่อย ๆ เปิดฝาหม้อน้ำต่อ ระวังไอหรือน้ำร้อนพุ่งขึ้นมา ต้องคลุมผ้าผืนหนาไว้ให้มิดชิดมาก ๆ
 
อย่ารีบเติมน้ำลงไปในทันที ต้องรอให้เครื่องยนต์คลายความร้อน อาจต้องรอถึงกว่า 20-30 นาที การเติมน้ำต้องเติมครั้งละนิด ไม่ควรเกินครึ่งลิตร แล้วทิ้งช่วงสัก 5 นาที เพื่อให้น้ำที่เติมดึงความร้อนกระจายกันให้ทั่ว เพราะโลหะที่ร้อนจัดเมื่อถูกน้ำเย็นทันที จะหดตัวลงอย่างรวดเร็วจนร้าวหรือเสียหายได้
 
6. สายคลัตช์ขาด-ปั๊มคลัตช์รั่ว
รถยนต์ที่ใช้ระบบเกียร์ธรรมดา ถ้าสายคลัตช์ขาดหรือปั๊มคลัตช์รั่ว ไม่ได้หมายความว่ารถยนต์จะแล่นไม่ได้เลย ยังสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อนำรถยนต์ออกจากพื้นที่เป็นระยะสั้น ๆ โดยไม่ต้องเข็นหรือลากกันได้ไม่ยาก
 
วิธีปฏิบัติคือ ตรวจสอบว่าเส้นทางข้างหน้าต้องว่างไม่น้อยกว่า 10-20 เมตร ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด เปิดสวิตช์กุญแจ เข้าเกียร์ 1 ไว้ กดคันเร่งประมาณ 1-2 ซม. บิดกุญแจสตาร์ทเครื่องยนต์ค้างไว้
 
ตัวรถยนต์จะกระตุกเป็นจังหวะตามการหมุนของเครื่องยนต์และไดสตาร์ท เคลื่อนที่กระตุกไปทีละนิดจนกระทั่งเครื่องยนต์ทำงาน ก็กดคันเร่งลงไปมากขึ้นเพื่อเร่งความเร็ว เกียร์จะไม่สามรถเปลี่ยนได้ แต่สามารถใช้ความเร็วได้เกือบเต็มที่ของความเร็วสูงสุดของเกียร์ 1 คือ ประมาณ 30-40 กม./ชม. ถ้าเส้นทางข้างหน้าว่างก็สามารถขับไปได้เรื่อย ๆ เมื่อต้องเบรก ก็กดแป้นเบรกลงไปเท่านั้น ปล่อยให้เครื่องยนต์ดับแล้วค่อยเริ่มออกตัวใหม่
 
7. เมื่อมีรถยนต์แล่นสวนเข้ามาในเลน
เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อย โดยเฉพาะในการขับบนถนน 2 เลนสวนกัน ขั้นแรกควรลดความเร็วลง แต่อย่ามากเกินไปจนรถที่ตามมาด้านหลังชนได้ มองกระจกด้านซ้ายเพื่อหาหนทางหนีทีไล่ พร้อมกระพริบไฟสูงและบีบแตรเตือนและเบี่ยงออกทางเลนซ้าย
ไม่ควรหลบข้ามเลยไปในช่องทางของรถยนต์ที่แล่นสวนมา เพราะบ่อยครั้ง คนขับเพิ่งรู้สึกตัวแล้วหักหลบเข้ามาจนทำให้เกิดการชนกันได้
 
8. กระจกหน้าแตก
มักไม่ค่อยมีปัญหาหากกระจกหน้าเป็นแบบลามิเนท 2 ชั้น ซึ่งมีแผ่นฟิล์มเหนียวคั่นกลาง เพราะจะไม่ร่วงเป็นเม็ดข้าวโพดเหมือนกระจกแบบเทมเปอร์ชั้นเดียว โดยแผ่นฟิล์มเหนียวตรงกลางจะเป็นตัวยึดไม่ให้เศษกระจกแยกออกจากกัน จึงทำให้พอมองทะลุผ่านและขับต่อไปได้ไกล
 
ถ้าเป็นกระจกแบบเทมเปอร์ จะแตกรวดเร็วมาก เพียงจุดแตกเล็ก ๆ ทำให้เนื้อกระจกสูญเสียความแข็งแรง และเกิดรอยร้าวทั่วแผ่นเป็นฝ้าขาวจนไม่สามารถมองผ่านได้ ผู้ขับจึงต้องตั้งสติให้มั่นและค่อย ๆ ชะลอความเร็ว แล้วเบี่ยงรถยนต์เข้าสู่ไหล่ทาง ถ้าเหลือกระจกติดที่ขอบ ให้ใช้ไม้หุ้มผ้าหนา ๆ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ในการกระแทกเศษกระจกที่ยังติดอยู่บนขอบออกให้หมด โดยควรหากระดาษหรือผ้ารองบนแผงหน้าปัดและฝากระโปรงหน้า เพื่อป้องกันเศษกระจกหล่นลงไปในช่องแอร์หรือขูดขีดสีตัวถัง
 
ขณะที่ขับรถยนต์ที่ไม่มีกระจกบังลมหน้า ควรปิดกระจกทุกบาน การเปิดระจกหน้าต่างทำให้ลมมาปะทะกับคน และทำให้รถยนต์มีการทรงตัวไม่ดีจากลมที่ไหลผ่าน ถ้ามีแผ่นกันแดดหรือแว่นสายตาก็ควรนำมาใส่ เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและเศษกระจกที่อาจค้างอยู่
 
9. สิ่งของตกอยู่บนถนน
ไม่ควรแล่นทับ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายได้
 
ขั้นแรกควรลดความเร็ว หากช่องทางทั้งซ้าย-ขวาไม่มีรถยนต์แล่นตามหลังมา ให้หักหลบโดยพยายามเบี่ยงให้น้อยที่สุด เพราะการหักหลบมาก ๆ ในขณะที่ขับเร็ว รถยนต์อาจหมุนหรือปัดเป๋ได้
 
หากเลี่ยงไม่ได้ หลังการทับหรือชน ควรจอดรถและตรวจสอบชิ้นส่วนใต้ท้องรถว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น คันชัก คันส่ง ท่อส่งเชื้อเพลิง ถังน้ำมัน ยาง ฯลฯ
 
10. สัตว์ขวางทาง
ควรลดความเร็ว แต่ไม่ควรเบรกอย่างรุนแรงหรือหักหลบทันที เพราะอาจทำให้รถยนต์พลิกคว่ำได้ และไม่ควรหักหลบไปในช่องทางที่มีรถแล่นสวนมา หากไม่เร่งรีบ ควรปล่อยให้สัตว์เหล่านั้นเดินจนพ้นจากถนน ไม่ควรบีบแตรไล่เพราะอาจทำให้ตกใจและหันมาทำอันตรายได้
การแซงควรเลี้ยวไปด้านหลังของสัตว์ เพราะการตัดหน้าจะทำให้สัตว์ตกใจและเตลิด อันตรายต่อรถยนต์ในช่องทางอื่น

.......สิ่งสำคัญที่สุดคือการตั้งสติให้ดี  อย่าตกใจ   เพราะทุกเหตุการณ์มีทางแก้ไข  หรือลดความเสี่ยงได้ทั้งนั้น