ผู้เขียน หัวข้อ: คิดจะติดตั้งระบบก๊าซ ดีไหม?  (อ่าน 1932 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Far

  • บุคคลทั่วไป
คิดจะติดตั้งระบบก๊าซ ดีไหม?
« เมื่อ: เมษายน 29, 2014, 05:58:22 AM »
คิดจะติดตั้งระบบก๊าซ ดีไหม?

หลังจากที่ความรู้สึกอดทนกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งสิ้นสุดลง ใจมันบอกกับตัวเองว่า เรารับไม่ได้กับการจ่าย ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่แพงจนต้องรัดเข็มขัดกันกิ่ว เพื่อนำมาจ่ายเป็นค่าน้ำมันรถจนเงินเดือนแทบไม่เหลือไว้ให้คนกิน หรือบางคนอาจจะมีเหตุผล อย่างอื่นที่ทำให้ต้องตัดสินใจแล้วว่า หัวเด็ดตีนขาดยังไงก็จะต้องเปลี่ยนไปใช้ก๊าซแน่ ๆ ถ้าพร้อมแล้วที่จะเปลี่ยนเชื้อเพลิง จากน้ำมันมา เป็นก๊าซ ก็ตามมาเลยเริ่มต้นคิดจะติดตั้งระบบเชื้อเพลิงเหลว มาเป็นก๊าซ ต้องเตรียมความพร้อมกันซะก่อน ลองพินิจพิจารณาดูก่อนว่า รถคันที่จะเอาไปติดตั้งระบบเชื้อเพลิงที่ใช้ก๊าซนั้นน่ะ มันมีความพร้อมที่จะทำอย่างไรบ้าง ลองติดตามเรื่องต่อไปนี้เป็นฉาก ๆ ไปเรื่อย ๆ แล้วจะรู้ตัวเองว่า รถของท่านพร้อมที่จะติดตั้งก๊าซได้หรือยัง

คุ้มหรือเปล่าที่จะติดตั้งระบบก๊าซ จุดคุ้มทุนด้านค่าใช้จ่าย

     ตัวรถเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะบ่งบอกถึงความคุ้มในการเปลี่ยนมาใช้ก๊าซ รถรุ่นใหม่หรืออายุไม่กี่ปี ส่วนใหญ่เครื่องยนต์จะมีสมรรถนะสูง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเบนซินหรือดีเซล ตัวเครื่องยนต์มักจะได้รับการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการทำงานอย่างเช่น ระบบจ่ายเชื้อเพลิง ระบบ จุดระเบิดที่ทำงานอย่างแม่นยำ มีประสิทธิภาพสูง ใช้เชื้อเพลิงน้อย ปล่อยของเหลือที่เป็นพิษปะปน ออกมากับไอเสีย น้อยเป็นทุนเดิม อยู่แล้ว ดังนั้นรถรุ่นใหม่ ๆ เหล่านี้จะมีอัตราการใช้เชื้อเพลิงหรือว่าการกินน้ำมันต่อกิโลเมตรค่อนข้าง ต่ำ ถ้าเป็นรถขนาดซับคอมแพ็กต์ เครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 ซี.ซี. อาจจะทำระยะทางได้เกิน 15 กิโลเมตร จากการใช้น้ำมันแต่ละลิตร ถ้าลองเอาราคาน้ำมันต่อลิตรมาตั้ง แล้วหารด้วยจำนวนกิโลเมตรที่วิ่งได้…น้ำมันราคาลิตรละ 30 บาท หารด้วยระยะทาง 15 กิโลเมตร ค่าใช้จ่ายก็จะตกอยู่ที่ประมาณ กิโล เมตรละ 2 บาท ถ้ารถของท่าน "กินน้ำมัน" ขนาดนี้ละก็ ถ้าไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร ก็อยู่เฉย ๆ น่าจะดีกว่า เก็บเงินสองสาม หมื่นเอาไว้ เติมน้ำมันไปได้อีก 10,000-15,000 กิโลเมตร สภาพตัวรถก็ยังคงเดิม ๆ ดูดีกว่าใส่ถังก๊าซ ชุดจ่ายเชื้อเพลิงหม้อต้ม เข้าไปพะรุงพะรัง ในห้องเครื่อง แถมยังหนักรถเพิ่มขึ้นมาอีก จริงอยู่รถขนาดนี้ถ้าเปลี่ยนมาใช้ก๊าซแล้วจะมีค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตรถูกลงมา อาจจะเหลือประมาณ 1 บาท นั่นหมายความว่าคุณก็จะต้องจ่ายค่าก๊าซในระยะทาง 15,000 กิโลเมตร อีก 15,000 บาท ค่าติดตั้งอุปกรณ์ก๊าซอีกประมาณ 30,000 บาท รวมเป็น 45,000 บาท เอาเงิน 45,000 ไปเติมน้ำมันวิ่งไปได้กี่ปี่หรือกี่เดือน ก็ลองหารออกมาดู เฉลี่ยแล้วคุณต้องจ่ายค่าน้ำมันเดือนละ หรือปีละกี่บาทหรือในทางกลับกัน ถ้าคุณคิดว่าใน 1 ปี คุณใช้รถไม่เกิน 5,000 กิโลเมตร อย่างนี้ไม่ต้องคิดมากเลย เมินเสียเถอะกับชุดติดตั้งก๊าซราคา 30,000 บาท ใช้น้ำมันอย่างเดียวสบายใจกว่าเยอะ

แต่ถ้าปีหนึ่งใช้รถเกิน 10,000 กิโลเมตร ก็เป็นเรื่องน่าคิดสมมติว่าในหนึ่งปีใช้รถ 15,000กิโลเมตร เสียค่าน้ำมันรถ 20,000-30,000 บาท เทียบบัญญัติไตรยางค์ไปเรื่อย ๆ 2 ปี ก็ 60,000 บาท ถ้า 3 ปี ก็ 90,000 บาท...ลงทุนติดตั้งชุดก๊าซไปปีแรก 30,000 บาท จ่ายค่า ก๊าซปีละ 15,000 2 ปีเป็น 30,000 3 ปีเป็น 45,000 บาท 4 ปีเป็นค่าก๊าซ 60,000 บาท รวมกับค่าลงทุนติดตั้งก๊าซในครั้งแรกอีก 30,000 จะเท่ากับ 90,000 บาท ซึ่งเท่ากับเติมน้ำมันอย่างเดียวในปีที่ 3

นี่แสดงว่าจุดคุ้มทุนในการติดตั้งระบบก๊าซจะต้องใช้เวลาในการใช้รถปีละ 15,000 กิโลเมตร ถึง 3 ปีเชียวนะ โดยที่ยังมีสมมติฐานอยู่ว่าราคาก๊าซและน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินอยู่ที่ลิตรละ 10 และ 30 บาท ตลอดระยะเวลา 3 ปี แต่ถ้าคุณใช้รถเกินกว่าปีละ 30,000 กิโลเมตร จุดคุ้มทุนในการติดตั้งก๊าซอาจจะลดลงมาต่ำกว่า 2 ปี

หรือลองดูจากตารางข้างล่างจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดว่าค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร เมื่อนำมาเทียบกันระหว่างการติดตั้งก๊าซกับเติมน้ำมันเบนซินอย่างเดียว อย่างไหนจะคุ้มกว่ากันแล้วค่อยมาตัดสินใจว่าจะติดตั้งระบบก๊าซหรือไม่ ?

นี่เป็นเพียงยกตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างการใช้น้ำมันกับการติดตั้งระบบก๊าซ LPG นะเนี่ย ถ้าเป็นการติดตั้ง CNG ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งจะเปลี่ยนเป็น 5-60,000 บาท แต่จะเสียค่าเชื้อเพลิงน้อยลง สมมติว่าเป็นกิโลเมตรละ 50 สตางค์ โดยเหมารวมเอาว่าราคา CNG จะยังคงตายตัวอยู่ที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท!! ใครอยากจะลองหาจุดคุ้มทุนก็ลองแปลงตัวเลขในตารางดูใหม่ ก็จะช่วยในการตัดสินใจ ได้ง่ายขึ้นว่าจะใช้ก๊าซดีหรือไม่?

จุดคุ้มทุนด้านจิตใจ

เมื่อได้ข้อมูลจากหัวข้อแรก เรื่องใหญ่เกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ พอที่จะตัดสินใจได้แล้วว่า "พอไหว" เรื่องต่อไปที่จะต้องมาดูก็คือ ทำใจ ได้ไหม ถ้ารถอันเป็นที่รักของคุณจะต้องถูกแปลงสภาพ...จะต้องมีถังก๊าซลูกเบ้อเริ่ม วางอยู่ท้ายรถ ในห้องเครื่องก็จะมีอุปกรณ์สำหรับ ระบบจ่ายเชื้อเพลิงใส่เพิ่มเข้ามาอีก ในห้องโดยสารก็จะมีสวิตช์ให้เลือกใช้ ว่าจะเอาให้เป็นก๊าซหรือน้ำมัน...หลาย ๆ เรื่องที่จะเข้ามาเกี่ยว ข้องกับการติดตั้งชุดก๊าซเพิ่มเติม แล้วไหนจะต้องมาพะวงอีกว่า ติดตั้งก๊าซแล้ว มันจะมีความปลอดภัยแบบไร้กังวล เครื่องไม่พังก่อน เวลา อันควร จะต้องบำรุงรักษากันอย่างไร เวลาเติมก๊าซเค้าทำกันยังไง มันเสียว ๆ ชอบกล เพราะรู้สึกว่ามันไวไฟเหลือเกิน บางคนมอง ยาวไป ถึงว่า ใช้แล้วมันจะทำให้เสียสุขภาพ กลายเป็นคนขี้โรค ตัวเหลืองซีดอย่างที่เค้าเล่ากันรึเปล่า? ความคิดอย่างนี้มันจะต้องเกิดขึ้นกับคุณแน่ๆ ในเมื่อมันเป็น "ประสบการณ์ครั้งแรก" ที่จะได้สัมผัสกับรถใช้ก๊าซในฐานะ "ผู้ขับขี่"ทั้ง ๆ ที่แต่ไหนแต่ไรมา เราก็อาศัยนั่งรถแท็กซี่ที่ติดตั้งก๊าซกันมานานร่วม 30 ปีกันแล้ว

ในการติดตั้งระบบเชื้อเพลิงใช้ก๊าซเพิ่มเข้าไปในรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นก๊าซ LPG หรือว่า CNG ในรถที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินทั่วๆ ไปนั่น หลักการพื้นฐานจะไม่ค่อยต่างกันเท่าไร คือเอาถังบรรจุก๊าซซึ่งมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ความจุของถังขนาดยอดนิยมก็จะอยู่ประมาณ 50-60 กว่าลิตรในก๊าซ LPG แต่ถ้าเป็น CNG จะว่ากันเป็นเนื้อก๊าซ 12-15 กิโลกรัม จากถังที่มีความจุประมาณ 70 ลิตร

รูปทรงและขนาดของถังก๊าซทั้ง 2 ชนิด ส่วนใหญ่จะเป็นแบบแคปซูลคล้ายกับเม็ดยา คือเป็นทรงกระบอกยาวๆ ส่วนตอนหัวท้ายทั้งสองด้านจะเป็นรูปกลมมน เพื่อการกระจายแรงดันของก๊าซในถังได้ใกล้เคียงกันระหว่างด้านข้างและหัวท้าย เพราะโดยปกติแล้วรูปทรงของถังบรรจุของเหลวหรือก๊าซที่มีแรงดันสูง ควรจะเป็นทรงกลมเหมือนลูกบอล แรงดันรอบ ๆ ตัวมันจึงจะเท่ากันทุกด้าน แต่ถ้านำถังที่มีรูปทรงกลมๆ แบบนั้นมาใส่ไว้ท้ายรถก็คงจะได้ความจุไม่มาก แถมยังเกะกะกินเนื้อที่บรรทุกของท้ายรถมากไปหน่อย จึงมีการเปลี่ยนรูป ทรงของถังให้เหมือนกับยืดลูกบอลกลมๆ โดยผ่าครึ่ง แล้วยืดออกห่างจากกัน ส่วนตอนกลางที่ถูกยืดออกไป ก็เลยกลายเป็น ลักษณะท่อกลม ที่เรียกว่าแคปซูลนั่นแหละ

เรื่องรูปทรงของถังก๊าซ LPG ขณะที่เราคุ้นเคยกับแบบแคปซูลนี้ ในหลายประเทศทั้งในยุโรปและเอเชีย ได้มีการอนุญาตให้ใช้ถังที่มี รูปทรงที่เรียกว่า Toroidal ที่คล้ายกับขนมโดนัทขนาดใหญ่ ก็เลยมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าถังโดนัท มีหลายขนาด ส่วนใหญ่จะวางลง ในช่องยางอะไหล่ท้ายรถได้พอดี ทำให้ไม่เสียพื้นที่เก็บของท้ายรถ บางรุ่นก็มีขนาดใหญ่ขึ้นไปอีก สำหรับรถที่มีพื้นที่ให้ใส่ถังแบบนี้ได้ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าบ้านเราไม่อนุญาตให้ใช้ถังแบบนี้ ก็เลยต้องทนใช้ถังแบบแคปซูลกันไปก็แล้วกัน

ถังก๊าซ LPG และ CNG จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ซึ่งเป็นไปตามคุณสมบัติของตัวก๊าซที่ใช้บรรจุ ถังก๊าซ LPG จะบรรจุเนื้อก๊าซ ที่มีสภาพเป็นของเหลว และมีแรงดันต่ำกว่า คือประมาณ 280-350 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว หรือ 20-25 บาร์ต่อตารางเซนติเมตร ซึ่งใกล้ เคียงกับแรงดันน้ำยาแอร์ในระบบทำความเย็นหรือเครื่องปรับอากาศ ความหนาของแผ่นเหล็กกล้าที่นำมาใช้ทำถังจึงมีอยู่ประมาณ 2-3 มม. น้ำหนักของถัง LPG เปล่า ขนาดยอดนิยม 50-60 ลิตร จะอยู่ประมาณ 20-22กิโลกรัม เมื่อเติมก๊าซ LPG เต็มที่ ระบบวาล์วควบคุม ความปลอดภัยของถังจะถูกกำหนดเอาไว้แค่ 85% ของปริมาตรของถัง เช่น ถัง 58 ลิต รก็จะเติมก๊าซ LPGเหลวเข้าไปได้เต็มที่เพียง 49.3 ลิตร เป็นต้น

เวลาที่เข้าไปเติมก๊าซLPGที่ปั๊ม ก๊าซLPGที่เติมลงไปในถังจะมีสภาพเป็นของเหลวเหมือนกับน้ำมันเบนซินหรือดีเซล ที่อยู่ในถังเช่นกัน ดังนั้นเค้าจึงได้มีการติดตั้งอุปกรณ์วัดระดับก๊าซแบบลูกลอยไว้ในถังเช่น เดียวกับถังน้ำมันรถ ท่อส่งก๊าซ LPG จากถังมายังเครื่องยนต์ก็จะ มีปลายท่อแหย่ลงไปรับเอาเนื้อก๊าซเหลวจากก้นถังอีกด้วย น้ำก๊าซLPGหรือก๊าซเหลวก็จะไหลออกจากถัง ด้วยแรงดันของตัวมันเองโดยไม่ต้องมีปั๊มคอยดูดและส่งไปตามท่อเหมือนระบบน้ำมัน และตราบใดที่เครื่องยนต์ทำงาน วาล์วไฟฟ้าที่ควบคุมการจ่ายก๊าซ จากถังจะเปิด ให้ก๊าซไหลป้อนให้กับเครื่องยนต์อยู่ตลอด และปิดเมื่อไม่มีกระแสไฟฟ้ามาเลี้ยงวาล์วตัวนี้หรือว่าเครื่องยนต์ดับ เพื่อไม่ให้ก๊าซไหลออกจาก ถังขณะที่เครื่องยนต์ไม่ทำงาน เป็นระบบความปลอดภัยขั้นพื้นฐานที่ติดมากับระบบจ่ายเชื้อเพลิงก๊าซทั้ง LPG และ CNG

     เนื่องจาก LPG เป็นก๊าซเหลว การจัดวางถังจึงต้องเป็นไปตามแบบที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่จะให้วางในแนวนอน เพราะจะต้องมี ลูกลอยวัดระดับ และปลายท่อส่งก๊าซที่จะต้องจุ่มอยู่ในเนื้อก๊าซตรงก้นถังตลอดเวลา อันนี้จะแตกต่างจากถังก๊าซที่ใช้หุงต้มตามบ้าน ที่เราจะเปิดเอาไอก๊าซจากส่วนบนของถังไปใช้กับเตาหุงต้มได้โดยตรงก็เพียงพอแล้ว แต่ในรถยนต์จะมีอัตราความ สิ้นเปลืองสูงกว่า เตาหุงต้ม อยู่มาก แถมยังจะต้องจ่ายก๊าซให้ทันในยามที่ต้องเร่งเครื่องยนต์ในรอบสูง ๆ ระบบจ่ายก๊าซให้กับเครื่องยนต์จึง ต้องส่ง เนื้อก๊าซเหลว ไป รอไว้ที่อุปกรณ์ควบคุมแรงดัน และพร้อมจะจ่ายก๊าซในสภาพที่เป็นไอให้กับเครื่องยนต์ได้อย่างทันเวลาทันที ที่เครื่องยนต์ต้องการ

ก๊าซ LPG เหลวมีน้ำหนักลิตรละ 0.52 กิโลกรัม ดังนั้นถ้าเติมก๊าซเข้าไปเต็มถัง ก็จะเท่ากับว่ามีน้ำหนักเพิ่มที่ท้ายรถอีกประมาณ 25 กิโลกรัม บวกกับน้ำหนักถังอีก 20 กว่ากิโล รวมแล้วก็พอ ๆ กับมีผู้โดยสารน้ำหนักตัวไม่เกิน 50 กิโลกรัม เพิ่มเข้ามาอีกคนหนึ่ง

ก๊าซ CNG โดยธรรมชาติจะมีเนื้อก๊าซหรือว่าความหนาแน่นค่อนข้างต่ำ วิธีที่จะเก็บเนื้อก๊าซให้ได้ปริมาณมาก เพียงพอสำหรับการ ใช้งานให้รถยนต์แล่นได้เป็นร้อย ๆ กิโลเมตร จึงต้องอาศัยการอัดเข้าไปเก็บไว้ในถังด้วยแรงดันสูง ๆ หรือไม่ก็ต้องใช้วิธีลดอุณหภูมิของ ถังให้เย็นจัด ๆ ว่ากันเป็นอุณหภูมิที่ติดลบอย่างน้อยก็ 163 องศาเซลเซียส จึงจะได้เนื้อก๊าซเหลว ซึ่งก็คงจะทำให้ต้นทุนการผลิตที่สูง ลิบลิ่วอีกเช่นกัน วิธีแรกที่ง่ายที่สุดที่นิยมใช้กันก็คือ แบบใช้วิธีอัดเก็บไว้ในถังด้วยแรงดันสูง ๆ ดังที่พบเห็นกันทุกวันนี้

     ถัง CNG ขนาดความจุประมาณ 70 ลิตร ที่นิยมติดตั้งกับรถเก๋งทั่วไป เวลาเติมก๊าซเข้าไปเต็มที่ตามปั๊ม CNG ถ้าเข้าไปสังเกตดูใกล้ ๆ ที่ตู้จ่าย จะเห็นเกจ์วัดแรงดันของปั๊มอยู่ที่ประมาณ 3,200 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว นั่นหมายถึงว่า แรงดันที่หัวจ่ายอัดก๊าซเข้าไปในถัง CNG ที่ติดอยู่ในรถขณะที่ก๊าซเต็มถังจนมันตัดการจ่าย ก็จะอยู่ที่ประมาณ 200-220 บาร์ หรือ 2,900-3,200 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ณ เวลาที่มีก๊าซเต็มถังด้วยแรงดันสูงสุดนี้ จะมีเนื้อก๊าซ CNG อยู่ในถังประมาณ 15 กิโลกรัม ซึ่งจะพารถวิ่งไปได้ 250-300 กิโลเมตร หรือ มากกว่าแล้วแต่สภาพการจราจร ขนาดเครื่องยนต์ พฤติกรรมการขับขี่ หรือแม้กระทั่งคุณภาพของก๊าซก็มีส่วนที่เป็นตัวแปร

เมื่อใช้งานไปเรื่อยๆ แรงดันในถังก็จะลดน้อยลงตามปริมาณของก๊าซที่เหลืออยู่ในถัง ดังนั้นการวัดปริมาณของก๊าซในถัง จึงอาศัยวัดจากแรงดันของก๊าซในถังนั่นเอง ถังเก็บ CNG จึงออกแบบได้ง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่ต้องมีลูกลอยวัดระดับในถัง จะจับถังวาง ในท่าใด นอนคว่ำ ตะแคง หรือวางในแนวตั้ง ล้วนทำได้ทั้งนั้น แต่จะต้องแข็งแรงและมีระบบความปลอดภัยที่ดีมาก ๆ จึงจะสมบูรณ์

อย่างที่บอกไว้แล้วว่า แรงดันของถัง CNG จะต้องแข็งแรงทนทานมาก กับแรงดันที่มหาศาลระดับ 3,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว โดยประมาณถ้าจะใช้เหล็กกล้าล้วน ๆ มาทำเป็นเปลือกของถังCNG ขนาดยอดนิยม 70 ลิตร ก็จะต้องหนาเกือบ ๆ 10 มิลลิเมตร แน่นอนว่า แค่น้ำหนักถังเปล่าอย่างเดียวก็ปาเข้าไปแล้วร่วม 80 กว่ากิโลกรัม จึงมีผู้ผลิตถังบางรายหันไปใช้วัสดุชนิดพิเศษ เช่น ถังอะลูมิเนียมหุ้มด้วย ไฟเบอร์ หรือไม่ก็มีการเสริมเปลือกด้วยใยลวด ทำให้น้ำหนักของถังลดลงมาได้ระดับหนึ่ง แต่ก็มีต้นทุนการผลิตที่สูง ขึ้นอีกหลาย เท่าตัว เช่นกัน

ด้วยข้อจำกัดของปริมาณของถังที่มีขนาดใหญ่ แต่จุเนื้อก๊าซได้ไม่มากนัก ถ้าจะใส่ถังขนาดใหญ่มาก ๆ ก็จะเสียเนื้อที่ใช้สอยจากห้อง เก็บของท้ายรถมากเกินไป โรงงานผู้ผลิตรถยนต์บางรายอย่างเช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์ หรือวอลโว่ จึงได้ติดตั้งถัง CNG ขนาดเล็ก แต่ หลายใบ เพื่อการกระจายน้ำหนักและซ่อนตัวไปตามซอกมุมต่าง ๆ เพื่อให้เหลือเนื้อที่ใช้สอยเอาไว้ใกล้เคียงของเดิม ก็นับว่าใช้งานได้ดี
และไม่เสียพื้นที่ใช้สอยจริง ๆ แต่การควบคุมน้ำหนักของถังก็ยังคงทำได้ยาก อย่างเช่นกรณีของเบนซ์ 200 NGTเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร ซึ่งมีถัง CNG จำนวน 4 ถัง น้ำหนักของถังรวมกันประมาณ 150 กิโลกรัม ความจุรวมประมาณ 110 ลิตร และได้เนื้อก๊าซหนัก18 กิโลกรัม ใช้งานได้ระยะทางเกิน 300 กิโลเมตร ต่อการเติมก๊าซแต่ละครั้ง

การติดตั้งถังก๊าซมาจากโรงงานเป็นความได้เปรียบในหลาย ๆ ประการ อย่างตำแหน่งในการวางถังที่เบนซ์ได้ออกแบบ ให้ถังก๊าซ สามารถเลื่อนหลุดออกนอกตัวรถได้ทางใต้ท้องรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุ วาล์วนิรภัยที่หัวถังจะตัดการจ่ายก๊าซในกรณีที่เครื่องยนต์ดับ และวาล์ว แบบหลอมละลาย เพื่อระบายก๊าซออกทิ้งไปเมื่อเกิดไฟไหม้ เป็นต้น

นี่เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของเรื่องถังก๊าซที่จะมีโอกาสเข้าไปนั่งอยู่ ในห้องเก็บของท้ายรถของท่าน ถ้าท่านได้ตกลงใจ ที่จะติดตั้ง อุปกรณ์ก๊าซ จะเลือกเอาแบบไหน ชอบแบบไหนก็แล้วแต่ความสะดวกและงบประมาณในกระเป๋าของแต่ละคน ถ้าจะเอาแบบสำเร็จรูปมา จากโรงงานก็ย่อมได้ ในราคาที่ได้ส่วนลดภาษีพิเศษ อย่างเบนซ์ 200 NGT เท่าที่ทราบ ราคาถูกกว่า E200 ที่ประกอบในบ้านเราร่วม 200,000 บาท แถมยังใช้เชื้อเพลิงราคาถูกได้อีกต่างหาก

แล้วคราวหน้าเราจะมาว่ากันต่อ เรื่องความคุ้มไม่คุ้มกับการติดตั้งก๊าซ...