ผู้เขียน หัวข้อ: ทำเองก็ได้ไม่ยาก ดูแลใช้งานเกียร์ออโตยังไงไม่ให้พังเร็ว  (อ่าน 1577 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Far

  • บุคคลทั่วไป
ทำเองก็ได้ไม่ยาก ดูแลใช้งานเกียร์ออโตยังไงไม่ให้พังเร็ว

ระบบส่งกำลังแบบอัตโนมัติหรือเกียร์ออโต ได้เข้ามาเพิ่มความสะดวกสบายในการขับขี่ใช้งานรถยนต์จนทำให้เกียร์ธรรมดาเริ่มสาบสูญไปจากวงการยนตรกรรม จากการที่ไม่ต้องคอยใช้เท้าซ้ายเหยียบคลัตช์ เพียงแค่เลื่อนคันเกียร์ไปยังตำแหน่งขับเคลื่อนที่ต้องการแล้วถอนเท้าออกจากเบรก รถก็เคลื่อนตัวออกไปทันทีโดยที่ไม่ต้องมานั่งเลี้ยงคลัตช์ด้วยเท้าซ้ายที่แสนจะไม่ค่อยเชื่อฟังคำสั่ง แถมยังมีอาการไหลถอยหลังจนอาจไปเสยกับรถที่อยู่ด้านหลังหากคุณเกิดขับรถเกียร์ธรรมดาขึ้นไปติดอยู่บนสะพานแบบหน้าเชิดโด่ง การขับรถเกียร์ธรรมดาท่ามกลางสภาพการจราจรที่ติดขัดกลายเป็นเรื่องที่ทรมานคนใช้รถเกียร์ออโตได้เข้ามาช่วยทำให้ทุกอย่างง่ายดายขึ้นสำหรับการขับใช้งานในเมือง ส่วนปัญหาการใช้งานของเกียร์ออโตในปัจจุบันที่พบเห็นได้บ่อยครั้งก็คือ ผู้ใช้ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้งานเกียร์ชนิดนี้ หรือใช้แบบไม่ได้ใส่ใจเรียนรู้วิธีการใช้งานเกียร์อัตโนมัติให้ถูกต้องซึ่งถือเป็นการยืดอายุการใช้งานของเกียร์ออโตไปในตัว

เขียนเรื่องเกียร์จนคนอ่านเริ่มรำคาญแต่ก็ยังคงมีผู้คนโดยเฉพาะพวกนักขับมือใหม่ที่อยากเรียนรู้วิธีใช้งานที่ถูกต้องอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะท่านที่เพิ่งถอยรถใหม่คันแรกของชีวิต เนื่องจากราคาค่าซ่อมหรือเปลี่ยนเกียร์อัตโนมัตินั้นไม่ใช่ถูกๆ บางทีล่อกันถึงหลักหลายแสนบาทจนเจ้าของลมแทบใส่เมื่อพบว่าบิลแจ้งค่าซ่อมหรือเปลี่ยนเกียร์ออโตทั้งลูกนั้นแพงระยับพอๆ กับการดาวน์รถใหม่กันเลยทีเดียว หลักใหญ่ใจความก็คือน้ำมันเกียร์อัตโนมัติที่ต้องดูแลเปลี่ยนถ่ายกันเป็นพิเศษที่ระยะ 2-3 หมื่นกิโลเมตร ของเหลวหล่อลื่นที่มีความสดใหม่จะช่วยประคับประคองเกียร์ของคุณให้มีอายุการใช้งานที่ยาวขึ้น เมืองไทยมีสภาพอากาศที่ร้อนระอุรวมถึงสภาพการจราจรในเมืองยังติดหนึบหนับจนน้ำมันเกียร์ร้อนจัดและเสื่อมสภาพเร็วมากกว่าปกติ

วิธีการใช้เกียร์ออโตที่เคยเขียนบอกกันไปเมื่อไม่นานมานี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยของการใช้งานในสภาพการณ์ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่คุณกำลังจะเข้าจอด พอรถหยุดนิ่งสนิทดีแล้วพบว่าที่จอดกลายเป็นการจอดแบบหน้าทิ่มก้นโด่ง ให้เหยียบเบรกจนรถนิ่งสนิทดีแล้วก็เลื่อนคันเกียร์ไปที่ตำแหน่งเกียร์ว่างหรือ N ดึงเบรกมือจนสุดแล้วค่อยเลื่อนคันเกียร์ไปที่ตำแหน่ง P หรือตำแหน่งของการจอดรถเพื่อป้องกันเฟืองล็อกเกิดอาการขบกันขณะกลับมาขับอีกครั้งจนตามมาด้วยความเสียหายของเฟืองล็อก

ขณะเดียวกันเมื่อจอดรถในลักษณะที่ไม่อยู่ในแนวระนาบตรงๆ พอเดินกลับมาที่รถเพื่อสตาร์ตแล้วออกเดินทางต่อ ก็ทำในวิธีที่กลับกันก็คือเหยียบเบรกก่อน แล้วเลื่อนคันเกียร์จากตำแหน่ง P ไปที่ตำแหน่ง N แล้วปลดเบรกมือตาม เท้ายังคงเหยียบอยู่ที่แป้นเบรกตลอดเวลา หลังจากนั้นจึงเลื่อนคันเกียร์ไปที่ตำแหน่ง D หรือตำแหน่งขับเคลื่อนแล้วค่อยๆ ถอนเท้าออกจากแป้นเบรก การใช้งานในลักษณะดังกล่าวจะช่วยลดการสึกหรอของเฟืองเกียร์ล็อกในตำแหน่ง P ได้เป็นอย่างดี รถเกียร์ออโตยุคใหม่นั้นส่วนใหญ่เวลาจอดดับเครื่องต้องยัดเกียร์ไปที่ตำแหน่ง P เท่านั้นถึงจะสามารถดึงกุญแจออกได้ หรือหากจอดในลักษณะขวางรถชาวบ้านหากดับเครื่องแล้วก็ไม่สามารถเลื่อนเกียร์ได้ บริษัทรถยนต์บางรายจึงออกแบบช่องข้างคันเกียร์ที่พอใช้กุญแจเสียบลงไปก็สามารถเลื่อนคันเกียร์ไปที่ตำแหน่ง N หรือเกียร์ว่างเพื่อช่วยให้รถชาวบ้านที่คุณจอดขวางสามารถเข็นหลบให้เค้าออกกันได้ นักขับบางรายขาดความใส่ใจไยดี ในการที่จะคิดคำนึงถึงสังคมส่วนรวมหรือผู้คนรอบข้างแบบไม่แยแสจนน่ารังเกียจ พอมาถึงที่จอดรถ ไม่ว่าจะขวางหรือไม่ขวางชาวบ้านเค้าก็ยัดเกียร์ P ลูกเดียวแล้วเดินออกไปทำธุระทั้งวัน หากจอดเป็นที่เป็นทางไม่ไปขวางทางใครก็ไม่เกิดเรื่อง แต่ที่พบเจอนั้นส่วนใหญ่จะลืมนึกถึงรถที่จอดขวางกันแทบทั้งสิ้น พอกลับมาถึงรถตัวเองก็พบกับริ้วรอยที่ถูกระบายจากเจ้าของรถคันที่ออกไม่ได้จนเต็มทั้งรอยกรีดที่ประตู ซึ่งบางทีแค้นกันจัดๆ ถึงกับลากยาวตั้งแต่หน้าจดท้ายก็ยังมี

ไม่ทำตัวเป็นคนใจร้อน จะเข้าเกียร์ถอยแต่ละครั้ง รถยังหยุดไม่สนิทดีก็ยัดเกียร์ถอยซะแล้ว ลองสังเกตดูหากคุณมีพฤติกรรมแบบนั้นก็ควรเลิกซะ เมื่อรถยังไม่หยุดสนิทดีแต่คุณดันยัดเกียร์ถอยทั้งๆ ที่รถไหลไปข้างหน้าช้าๆ จะได้ยินเสียงเฟืองเกียร์ขบกันอย่างชัดเจนราวกับคนนอนกัดฟัน ไม่นานเกียร์ลูกนั้นก็กลับบ้านเก่าตามด้วยเงินค่าซ่อมหรือไม่ก็ยกทั้งลูกที่แพงพอๆ กับการถอยมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์เลยทีเดียว เมื่อไม่ยอมเลิกและทำตัวเป็นพวกนักขับใจร้อนเกียร์ของคุณก็จะกระจายก่อนเวลาอันควรอย่างแน่นอน ใจเย็นๆ ใจร่มๆ เวลาไม่ได้วิ่งไปข้างหน้าเร็วจนทำให้คุณถึงกับลน รอให้รถหยุดนิ่งสนิทดีเสียก่อนแล้วค่อยเลื่อนคันเกียร์จาก D มาเป็น R ฝึกให้เคยชินทำให้เป็นนิสัยเมื่อขับรถทุกครั้ง หากเกียร์มันพูดได้คุณจะได้ยินมันขอบคุณด้วยน้ำเสียงที่แสดงออกถึงความจริงใจ

เรื่องราวการใช้งานของเกียร์อัตโนมัติยังมีอีกมากมายหลายเรื่องเล่ากันสามวันสามคืนก็ไม่จบสิ้น ท่านที่ชอบความประหยัดพอขับลงเนินก็คิดว่าการยัดเกียร์ว่างปล่อยรถไหลลงมาจะเป็นการประหยัดเงินได้มากพอที่จะทำให้ค่ากับข้าวในมื้อต่อไปเกิดความหรูหราขึ้นมาได้ เลยปล่อยเกียร์ว่างลงเขาโดยไม่มีเอนจิ้นเบรกหรือการทดเกียร์ลงต่ำสำหรับการขับลงเขาเพื่อหน่วงความเร็วไม่ให้รถไหลลงมาเร็วเกินจนแม้กระทั่งการกระทืบเบรกเต็มๆ ก็ไม่สามารถหยุดรถได้ สุดท้ายก็ไปจบลงที่ก้นเหวลึกร้อยกว่าเมตร ขับลงทางลาดชันก็ยัดเกียร์ต่ำก่อนไหลลงเนินด้วยการใช้ความเร็วต่ำและใช้เกียร์ 2-3 ในการขับลงเนิน หากชันมากๆ บางทีต้องเบรกช่วย ซึ่งทางแบบนั้นก็ไม่ควรแซงหรือขับเร็วแบบบ้าระห่ำอยู่แล้ว เบรกให้ลึกหน่อยก่อนมุดเข้าโค้งช่วยดึงความเร็วให้ลดลง คาเกียร์เอาไว้ตามตำแหน่งที่บอกคุณจะร่อนลงมาจากเนินเขาในแบบปลอดภัยไร้กังวล

การลดความเร็วก่อนเข้าโค้งจะทำให้พวงมาลัยสามารถควบคุมทิศทางของรถได้อย่างสะดวกง่ายดาย อย่าเปลี่ยนลงเกียร์ต่ำมากเกินสองตำแหน่งหากรอบเครื่องยนต์ที่ใช้สูงจนเกือบจะถึงขีดแดง เบรกให้รอบเครื่องลดลงก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนเกียร์ลงไปในตำแหน่งที่ต่ำกว่าเกียร์สูงสุดเพียงแค่ตำแหน่งเดียว หรือเปลี่ยนลดเกียร์ลงต่ำแค่เกียร์เดียวเช่นจากเกียร์ 6 ก็เชนลงไปแค่เกียร์ 5 ก็พอ รถรุ่นใหม่บางคันมีระบบป้องกันเกียร์เสียหายหากคนขับเปลี่ยนเกียร์ที่รอบสูงแบบไม่ตั้งใจ ถึงจะกดแป้นเปลี่ยนเกียร์มันก็ไม่ยอมเปลี่ยนจนความเร็วรอบได้ตามที่เซนเซอร์ในสมองกลเกียร์ถูกโปรแกรมมาถึงจะเปลี่ยนลงเกียร์ต่ำให้ ผมเคยเชนจากเกียร์ 8 ลงไปถึงเกียร์ 5 ในเกียร์ ZF 8 Speed ของ BMW ด้วยแป้น Paddle Shift ขณะที่ห้อมาเต็มเหยียดบนไฮเวย์ ทำให้รอบเครื่องยนต์ตวัดพุ่งสูงจนเกือบจะเกินขีดจำกัดการหมุนของเกียร์กับเครื่องยนต์ซึ่งไม่ถูกต้องนัก หากเกียร์ของคุณไม่มีระบบป้องกันรอบเครื่องยนต์ท่ีไม่มีความสัมพันธ์กับความเร็วและการเปลี่ยนเกียร์รับรองเกียร์รูดกระจายวายป่วงอย่างแน่นอน ถ้ารีบร้อนยัดจากเกียร์ 6 ลงมาเกียร์ 3 ด้วยแป้นเปลี่ยนเกียร์แบบที่นักแข่งชอบใช้ เกียร์รถแข่งนั้นมีชิ้นส่วนไส้ในที่ทนทานเหนียวแน่นมากกว่าเกียร์รถบ้านแบบไม่พังกันง่ายๆ เนื่องจากต้องรับแรงบิดมากกว่าหลายเท่าตัว หากขับใช้งานเกียร์รถบ้านในแบบเกียร์รถแข่ง ไม่นาน เกียร์ลูกนั้นก็จะถูกชั่งกิโลฯ ขายเป็นเศษอะลูมิเนียมอย่างแน่นอน.