ผู้เขียน หัวข้อ: ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า  (อ่าน 2714 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Mor

  • Type3
  • ***
  • กระทู้: 384
  • คะแนนพิษสวาท +1/-1
ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า
« เมื่อ: สิงหาคม 04, 2013, 04:47:34 AM »
วิธีใช้งานอย่างถูกวิธี

รถยนต์ในปัจจุบันนอกจากปิกอัพ รถยนต์ยุโรปรุ่นใหญ่ และรถสปอร์ตราคาแพง ส่วนใหญ่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้ากันเกือบหมดแล้ว เพราะมีข้อดีคือ ต้นทุนการผลิตต่ำ ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง และห้องโดยสารกว้างขวาง

เพลาขับในระบบขับเคลื่อนล้อหน้าต้องทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนและต้องเลี้ยวได้ แม้การพัฒนาด้านเทคโนโลยีได้ทำให้เพลาขับเคลื่อนล้อหน้ามีความทนทานมากขึ้น แต่การใช้งานอย่างถูกวิธีก็สำคัญในการยืดอายุการใช้งาน

รถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าส่วนใหญ่มีตำแหน่งการวางของเครื่องยนต์แบบวางขวาง ทั้งบล็อก 4 สูบเรียง หรือบล็อกวี ต่างจากรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลังที่มักวางเครื่องยนต์ตามยาว

สำหรับรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อบางรุ่น เช่น โตโยต้า ราฟ4 ฮอนด้า ซีอาร์-วี หรือมิตซูบิชิ แลนเซอร์ อีโวลูชั่น แม้เป็นรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ แต่จากการที่พัฒนามาจากรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า ทำให้ตำแหน่งการวางของเครื่องยนต์ยังเป็นแบบวางขวาง

ทำไมถึงต้องเปลี่ยนแปลง

สาเหตุหลักที่ทำให้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าได้รับความนิยมจากผู้ผลิตรถยนต์มีหลายสาเหตุหลัก คือ ลดการสูญเสียกำลังที่ถ่ายทอดออกจากเครื่องยนต์ เพราะระบบขับเคลื่อนล้อหลังต้องมีเพลากลางท่อนยาว ในขณะที่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าไม่ต้องมีเพลากลาง จึงทำให้มีการส่งกำลังอย่างฉับไว และช่วยให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง และยังลดต้นทุนการผลิต เพราะในรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้ามีชิ้นส่วนไม่มากเท่ากับรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลัง จึงไม่ใช่แค่ลดต้นทุนได้แค่เพลากลาง แต่ยังมีอีกหลายชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถลดต้นทุนลงได้ เพลาขับไม่ทนจริงหรือ

เพลาขับเป็นประเด็นหลักในความกังวลเรื่องความทนทาน เพราะต้องทำหน้าที่ทั้งขับเคลื่อนและเลี้ยวตาม เพลาขับในยุคแรกมักไม่ทนทาน จนเกิดความเชื่อที่ไม่ดีต่อเนื่องกันมา แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนทำให้เพลาขับมีอายุการใช้งานมากขึ้นกว่า 100,000 กิโลเมตรแล้ว

หากมีการดูแลรักษาที่ถูกต้องและใช้งานอย่างถูกวิธี เพลาขับจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยเกิน 100,000 กิโลเมตรแน่นอน และรถสปอร์ตในระดับ 200 แรงม้า ที่จำหน่ายในตลาดหลายรุ่นก็ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า เช่น ฮอนด้า พรีลูด หรือโตโยต้า เซลิกา ย่อมแสดงให้เห็นถึงความทนทานของเพลาขับหน้า

ตรวจสอบเพื่อความมั่นใจ

ภายในข้อต่ออ่อนตรงหัวเพลา 2 จุดต่อเพลา 1 แท่ง มีส่วนประกอบของลูกปืน เสื้อเพลา และเพลา โดยถูกหล่อลื่นด้วยจาระบี และถูกห่อหุ้มเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นเข้าด้วยยางหุ้มเพลา ซึ่งจุดนี้จำเป็นต้องดูแลอย่างสม่ำเสมอ ในสภาพการใช้งานปรกติ ยางหุ้มเพลามีอายุการใช้งานเฉลี่ย 50,000-100,000 กิโลเมตร และถ้าไม่พบการฉีกขาดควรถอดเพลาออกมาทำความสะอาดทุก 100,000 กิโลเมตร เปลี่ยนจาระบีชนิดเฉพาะและใช้ยางหุ้มเพลาคุณภาพสูง??

หากมีการฉีกขาดของยางหุ้มเพลา โดยเฉพาะตัวนอกที่จะต้องเลี้ยวตามล้อบ่อย ๆ ต้องซ่อมแซมทันที หากปล่อยทิ้งไว้ความเสียหายอาจลุกลามจนต้องเปลี่ยนเพลาขับทั้งแท่ง ตามที่ได้ยินเสียงดังก๊อก ๆ ขณะเลี้ยวของเพลาขับเคลื่อนล้อหน้า

ดูแลถูกต้องลดค่าใช้จ่าย

วิธีปฏิบัติเพื่อยืดอายุเพลาขับเคลื่อนล้อหน้าคือ ออกตัวเมื่อล้อตั้งตรงและขับด้วยความนุ่มนวล แล้วจึงค่อยเพิ่มความเร็วการออกตัวด้วยความรุนแรงทำให้เพลาขับมีอายุการใช้งานสั้นลง

ถ้าใช้ระบบเกียร์อัตโนมัติ ควรเหยียบเบรกก่อนเข้าเกียร์เดินหน้า หรือถอยหลังทุกครั้ง เพื่อลดแรงกระตุกหรือกระชากของเครื่องยนต์ที่ส่งไปยังเพลาขับ ระหว่างการขับเมื่อผิวถนนไม่เรียบ ควรลดความเร็วลงอย่างช้า ๆ เพราะการเบรกที่รุนแรงมีส่วนทำให้เพลาขับมีอายุการใช้งานสั้นลง การเลี้ยวมุมแคบและกลับรถควรใช้ความเร็วต่ำที่สุด และหลีกเลี่ยงการขับเคลื่อนพร้อมการเลี้ยวเป็นมุมแคบอย่างต่อเนื่องเพื่อลดภาระของเพลาขับ

การเข้า-ออกจากที่จอดรถริมทางเดินเท้าไม่ควรขับในขณะที่หมุนพวงมาลัยสุด เพราะเมื่อเพลาขับหมุนพร้อมกับหักเลี้ยวสุดจะทำให้อายุการใช้งานสั้นลง ถ้ารู้ตัวว่าหมุนสุดให้คืนพวงมาลัยเล็กน้อย แล้วค่อยเลี้ยวและขับต่อไปด้วยความนุ่มนวล

พึงระวัง สำหรับ ขับล้อหน้า


รถยนต์แต่ละคันกว่าจะได้มาแสนยากลำบาก การบำรุงรักษาตลอดการใช้งานอาจจะยากกว่าและในบทความที่จะกล่าวถึงนี้ จะอยู่ในส่วนของการขับเคลื่อนนั่นก็คือ "เพลาขับ"

ชิ้นส่วนดังกล่าว จะถูกติดตั้งอยู่ระหว่างชุดเกียร์กับล้อ การหมุนของเพลาขับจะเท่ากับการหมุนของล้อ การทำงานถือว่าหนักมาก และสำคัญมาก ซึ่งสาระสำคัญไม่เกี่ยวกับการหมุนของล้อแต่อย่างใด แต่จะกล่าวถึงในส่วนที่พึง
ระวัง คือ "การเลี้ยวในวงแคบ"

ในการเลี้ยวหรือกลับรถในพื้นที่แคบ ผู้ขับขี่แต่ละท่านการขับขี่ไม่เหมือนกัน เช่น ช้าบ้าง-เร็วบ้าง หรือตีวงกว้าง-ตีวงแคบ แตกต่างกันไป แต่ในสภาพการจราจรที่แออัด จำเป็นที่จะต้องเร่งรีบ เลยทำให้ส่งผลถึงตัว "เพลาขับ" นั่นเอง

เอ๊ะ ! แล้วเกี่ยวกับเพลาขับตรงไหน ?

การที่เลี้ยว หรือ กลับรถในที่แคบแล้วไหนจะรีบอีก (คันหลังจะต่อว่าเอา) เลยทำให้รีบหักพวงมาลัย แล้วเร่งเครื่องอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุผลนี้ เพลาขับ (ด้านติดล้อ) จะถูกหักเลี้ยวตามการเลี้ยว ลูกปืนที่หัวเพลาจะเกิดการบิดตัวภาย ในอย่างรุนแรง ซึ่งจะทำให้เกิดการสึกหรอสูง ถ้ากระทำเช่นนี้บ่อยๆ จะทำให้หลวมคลอนเร็วกว่าการใช้งานปกติ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีเท่าไรต่อท่านเจ้าของรถ การซ่อมบำรุง หรือเปลี่ยน จะมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้น ในการเลี้ยวแต่ละครั้งให้คำนึงถึงจุดนี้ด้วย

อีกจุดหนึ่งที่จะชำรุดก่อน ก็คือ "ยางกันฝุ่นเพลาขับ" ตัวที่ติดล้อนั่นแหล่ะ ยางกันฝุ่นเป็นยาง ย่อมมีอายุการใช้งานเหมือนยางทั่ว ๆ ไป แต่ถ้ามีการเลี้ยวเหมือนข้อความข้างต้น ก็จะทำให้ฉีกขาดเร็ว ในเมื่อฉีกขาดเร็วก็จะทำให้สารหล่อลื่น (จารบี) หลุดออกจากชุดลูกปืนหัวเพลา และเมื่อเป็นเช่นนี้ หัวเพลาจะได้รับความเสียหายอย่างแน่นอน ดังนั้น เมื่อยางกันฝุ่นเพลาขับตัวใดตัวหนึ่งขาด ให้รีบซ่อมโดยด่วน มิฉะนั้น จะส่งผลให้เพลาหลวมคลอนได้ และเปลี่ยนในที่สุด

จะรู้ได้อย่างไรว่า ยางกันฝุ่นเพลาขับชำรุด หรือ ฉีกขาด ?

โดยทั่วไปแล้ว ยางกันฝุ่นเพลาขับตัวนอก (ด้านติดล้อ) จะขาดก่อน ให้สังเกตว่ามีคราบจารบี หรือ สิ่งสกปรกติดอยู่ทางด้านในของล้อนั้นๆ แสดงว่าขาดแน่นอน แต่จะให้ชัวร์เลย ก็ให้ก้มลงดูใต้ท้องรถก็จะทราบว่ามาจากจุดใด หรือ
ให้ช่างผู้ชำนาญงานตรวจสอบก็จะดียิ่งขึ้น

และมีวิธีใดที่ช่วยให้การใช้งานยาวนาน ?

1. เลี้ยวรถ หรือ กลับรถด้วยความเร็วต่ำ
2. ให้ตีวงเลี้ยวกว้าง (ถ้าเป็นไปได้)
3. หลีกเลี่ยงการหักพวงมาลัยสุด หรือ หักเลี้ยวสุดขณะรถเคลื่อนที่
4. ตรวจสภาพยางกันฝุ่นเพลาขับสม่ำเสมอ (เริ่มชำรุดเปลี่ยนทันที)
5. ตรวจสอบสารหล่อลื่น (จารบี) ในเพลาขับ อันนี้ตรวจสอบเองลำบาก คงให้ช่างตรวจสอบ


*** เพียงเท่านี้ เพลาขับของท่านก็จะอยู่ตราบนานเท่านาน ตลอดอายุการใช้งานครับ ***