“20,000 บาท” คือราคาลงทุนขั้นต่ำสุดของ “แฟชั่นปั่นเมือง” และสูงสุดไปจนถึง “หลักแสน” ด้วยราคาล่อใจเช่นนี้เอง จึงบังเกิดเหล่ามิจฉาชีพ “ถีบรถ” เพื่อชิงจักรยานคันหรูไปขาย มีถึงขั้นทำกันเป็นกระบวนการ ดักปล้นด้วยปืนแล้วขนขึ้นรถกระบะหายลับไป เกิดกลายเป็นพื้นที่อันตรายสุ่มเสี่ยงรอบกรุง!!
เมื่อคนถีบจักรยาน “ถูกถีบ”
ไม่ทันได้ระวังตัว! คนถีบจักรยานก็ดันเป็นฝ่าย “ถูกถีบ” เสียเอง นี่ไม่ใช่เรื่องตลกโปกฮาหรือเรื่องเล่นๆ เพราะเป็นเรื่องอันตรายสุ่มเสี่ยงถึงตายกันเลยทีเดียว!
"เคยมีคนบ้าแถวเลียบทางด่วนแห่งหนึ่ง พอเห็นคนปั่นจักรยาน มันก็ร้องเฮ้ย! จากนั้นก็เอาปืนบีบีกันออกมายิ่ง มีเลเซอร์ด้วยนะ สิ่งที่กำลังจะบอกก็คือ คนปั่นจักรยานต้องระวัง และเซฟตัวเองด้วย เพราะมีคนบางกลุ่มมองว่าคนปั่นจักรยานมันน่าหมั่นไส้ เอาบีบีกันยิ่งมันเลย หรือทุบเอารถจักรยานไปเลยก็มี มีจริงๆ ครับ
ยิ่งเส้นในกรุงเทพฯ เส้นแถวเกาะรัตนโกสินทร์ ถ้าปั่นเข้าไปตามซอกเล็กซอกน้อย จริงอยู่ที่จะเจอมุมเก่า เมืองเก่า มันสวยไง แต่ภายในความสวยมันก็มีชุมชนซึ่งบางทีก็น่ากลัว แล้วจักรยานก็ราคาแพงด้วย ถ้าไปคนเดียวก็อาจถูกตีเอาจักรยานไปได้ง่ายๆ บางแก๊งเอารถกระบะมาเบียดเพื่อให้หลบ-ให้ล้ม พอล้มแล้วมันก็เล่นทีเผลอ ส่งคนลงมายกจักรยานขึ้นกระบะไป แบบนี้ก็มี”
โขม-ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง เคยบอกเล่าประสบการณ์เอาไว้ในฐานะนักปั่นจักรยานตัวยง ในงานฉายหนังสั้น “ปั่นเมือง: Share the Road”
ไม่ใช่แค่เพียงเสียงสะท้อนเพียงเสียงนี้เดียวที่เดือดร้อน แต่หลากเสียงจากโลกออนไลน์ต่างเตือนภัย “มิจฉาชีพถีบรถ” เอาไว้เกลื่อนเน็ต เพื่อพิสูจน์เรื่องนี้ ทีมข่าวจึงลงพื้นที่ไปหาความจริงจากปาก “นักปั่นตัวจริง” และนี่คือคำบอกเล่าที่ย้ำด้านมืดในเมืองหลวงให้ชัดมากขึ้นไปอีก
“เคยมีคนถูกถีบแล้วเอาจักรยานไปเลย เพราะคนปล้นเขารู้ว่ามันแพงและมันขายง่ายด้วยครับ อย่างคันนี้ 30,000 ครับ ถ้าเป็นรุ่นต่ำๆ ก็จะ 20,000 ต้นๆ เป็นรุ่นเริ่มต้นเลยนะ รุ่นที่นิยมกันในบ้านเรา แต่ราคานี้ได้แค่จักรยานนะ ยังไม่ได้หมวก รองเท้า ชุดเลยนะ จักรยานแบบนี้แค่ถอดล้อออกแยกชิ้นส่วนขายก็ได้แล้ว ส่วนใหญ่เขาจะไม่ขายเป็นคันครับ เพราะถ้าทำแบบนั้นเจ้าของจะรู้ เพราะว่าแต่ละคันที่ซื้อมามันมี Serial Number อยู่” อุดม บุญอ่อน นักปั่นผู้มีประสบการณ์กว่า 4 ปี ให้ข้อมูล แล้วจึงปล่อยให้เพื่อนนักปั่น “นิคม สนอ่อน” อีกคนช่วยเสริม
“ที่ได้ยินว่ารถโดนถีบแล้วก็ปล้นบ่อยๆ คือ ถนนอักษะ แถวพุทธมณฑลสาย 4 นะ จะมีคนเตือนกันบ่อยๆ คนปั่นจักรยานด้วยกัน เตือนกันในเว็บเลย แล้วก็ที่เป็นข่าวดังๆ เลยก็จะเป็นที่พัทยา ส่วนจุดที่อันตรายอีกจุดก็ตรงสะพานกลับรถของสุวรรณภูมิ ทางที่จะออกไปโผล่ ถนนบางนา-ตราด นี่แหละครับ มันจะเป็นทางที่เปลี่ยวเลยครับตรงนั้นถ้าเป็นตอนกลางคืน”
สิ้นคำยืนยันจากนักปั่นตัวจริง สิงห์ล้อคู่ทั้งสองจึงช่วยกันลงลึกรายละเอียดไปอีก “เวลาปั่นกลางคืนถ้าไปเป็นแก๊งได้จะดีมาก เพราะต้องยอมรับว่า แก๊งปล้นจักรยานมันมีอยู่จริงๆ ทางที่ดีควรมีสติ และศึกษาเส้นทางให้ดีทั้งจากข่าว หรือกลุ่มนักปั่นที่เอามาโพสต์เตือนภัย เพื่อจะได้รู้ว่าเส้นไหนเสี่ยง เส้นไหนไม่เสี่ยง
มีน้องในกลุ่มเคยเจอมิจฉาชีพเหมือนกันครับ มาเล่าให้ฟัง ปั่นๆ อยู่เรียงกัน 3 คนนะ มีคนนึงถูกกระชากกระเป๋าไปเลย ซึ่งผมก็ไม่คิดว่าจะเจอเหตุการณ์นี้ในกลุ่มนะ เจอแถวตึกช่อง 3 น่ะครับ ถนนพระราม 4 ตอนประมาณ 5 ทุ่มกว่าๆ ตั้งแต่นั้นมา ผมก็เลยหลีกเลี่ยงการปั่นกลางคืน”
“เลนปลอดภัย” แห่งใหม่ ณ สุวรรณภูมิ
เมื่อมีสถานที่อันตราย ก็ต้องมีที่ที่ปลอดภัย “Bike Lane” ที่สุวรรณภูมิคือ “เส้นทางจักรยานสีเขียว” ซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการแก่ชาวสองล้อเมื่อไม่นานมานี้เอง ถึงแม้จะมีข่าวคราวบนโลกอินเทอร์เน็ตเข้ามาให้ระคายหูอยู่บ้างว่าพื้นที่ใกล้เคียง “บริเวณใต้สะพานที่กลับรถเส้นสุวรรณภูมิ” คือพื้นที่อันตรายที่มิจฉาชีพมักดักปล้นจักรยาน แต่ถึงอย่างนั้น สิงห์นักปั่นที่มาใช้บริการก็ยืนยันว่าพื้นที่ในฝันแห่งใหม่ของเหล่าคนจักรยานแห่งนี้ปลอดภัยแน่นอน เพราะไม่ใช่จุดเดียวกันและแยกส่วนออกจากถนนสายหลักอย่างชัดเจน
โดยทางสนามบินสุวรรณภูมิได้ปรับปรุงพื้นที่ส่วนนั้นขึ้นมาใหม่ จากเดิมเป็นถนนสำหรับการตรวจตรารอบสนามบิน ให้กลายเป็นเส้นทางจักรยานสีเขียวที่ใช้ชื่อว่า “Bike Lane” ให้ทุกคนเข้าใช้บริการฟรีบนถนนยาวกว่า 23 กม. ซึ่งถือเป็นเส้นทางจักรยานที่แยกส่วนออกมาจากถนนอย่างชัดเจนครั้งแรกในไทย!
หากให้ลองเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆ จากประสบการณ์ตรงแล้ว นิคม หนุ่มนักปั่นผู้หลงรักยานพาหนะมากว่า 5 ปียืนยันเลยว่าที่นี่ปลอดภัย เพราะจริงๆ แล้วปั่นจักรยานในเมืองหลวงแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็อันตรายหมด
“จริงๆ แล้วมันก็อันตรายเกือบทุกที่แหละครับ เราต้องอย่าปั่นยามค่ำคืน ดูจุดเสี่ยงด้วย อย่างที่ผมเคยได้ยินก็คือแถวถนนอักษะหรือรอบๆ พุทธมณฑล ในจุดที่มีเด็กแว้นน่ะครับ เราควรหลีกเลี่ยง หรืออย่างแถวคลองเตย, วิภาวดี, บางนา ก็มีกลุ่มเด็กแว้นเหมือนกัน”
ในเมื่อยังรักชีวิตบนหลังอานจึงยังต้องปั่นด้วยความระมัดระวังกันต่อไป แต่เพื่อไม่ให้รู้สึกหวาดระแวงเรื่องมิจฉาชีพจนเกินไป ทุกวันนี้กลุ่มนักปั่นได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งกองทุน "THAIMTB กองทุนรางวัลนำจับโจรทำร้ายและปล้นชาวจักรยาน" ขึ้นมา เพื่อแสดงพลังในการเป็นหูเป็นตาร่วมกันในเรื่องนี้กันให้มากขึ้น ในเมื่อปัญหา “มิจฉาชีพจอมถีบ” ยังแก้ไม่ตก พวกเขาจึงเลือกที่จะระมัดระวังตัวเอง
ส่วนคนที่อยากขี่เลนจักรยานอย่างปลอดภัย แนะนำให้ลองแวะมาที่สุวรรณภูมิกันได้ “Bike Lane” แห่งนี้ เหมาะสำหรับการปั่นชิลชิลในช่วงเช้า โดยประตูจะเปิดเวลา 06.00 น. และปิดรับแลกบัตรเข้าใช้บริการเวลา 17.30 น. ก่อนจะปิดบริการอย่างเป็นทางการเวลา 19.00 น.
ในการปั่นบนเส้นทางดังกล่าว จะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำการตรวจตราและรักษาความปลอดภัยเส้นทางจักรยานทุกๆ 1 ชั่วโมง และหากเกิดเหตุฉุกเฉิน สามารถแจ้งได้ที่ ศูนย์รักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) โทร. 0-2132-4000 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ปั่นรันทด ชีวิตสองล้อ
“ปกติมีอาชีพเป็นพ่อค้าขายของมือสองภายในตลาดนัดบ่อปลาย่านอ่อนนุช ช่วงหลังรายได้ไม่ค่อยดีประกอบกับเป็นคนชื่นชอบการปั่นจักรยาน จึงคิดวิธีหารายได้เพิ่มโดยการขโมยจักรยานซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ เห็นว่าสามารถขโมยได้ง่าย ซึ่งแต่ละครั้งในการก่อเหตุ จะนั่งโดยสารรถเมล์ตระเวนตามถนนสุขุมวิท ซึ่งเป็นย่านที่มีคนนิยมใช้รถจักรยานจำนวนมาก และมีจุดจอดรถจักรยานตามห้างฯ และสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส
จะใช้คีมตัดเหล็กที่พกมา ตัดโซ่ที่ล็อกล้อไว้ แล้วขับกลับบ้านพัก จากนั้นนำรถไปขายที่ตลาดนัด บางส่วนนำไปขายตลาดนัดคลองถม เวลานำรถจักรยานมาขายแต่ละครั้งมีผู้สนใจจำนวนมาก เนื่องจากอยู่ในช่วงกระแสนิยม ราคาจริงจะอยู่ที่ประมาณหมื่นต้นๆ แต่เอามาขายเพียงคันละ 8,000-9,000 บาท”
นี่คือคำสารภาพบางส่วนของโจรขโมยจักรยานเสือภูเขาตามย่านสุขุมวิท ช่างสะท้อนให้เห็นว่าภัยของนักปั่นช่างมีอยู่รอบทิศเสียจริงๆ คือนอกจากจะเสี่ยงต่อการถูกถีบ, ถูกปล้น, ถูกขโมยจักรยานไปขายแล้ว มองดูให้ดีจะพบปัญหาเรื้อรังเรื่องเส้นทางขับขี่ที่แก้ไม่เคยตกด้วย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้ง “อุดม บุญอ่อน” และ “นิคม สนอ่อน” จึงขอเป็นตัวแทนสิงห์นักปั่นฝากความลำบากเอาไว้ หวังเล็กๆ ว่าเรื่องจะไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องให้หันมาสนใจบ้าง โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง “ล้อติดฝาท่อ” ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุและถึงขั้นเสียชีวิตมาแล้ว
“ถ้าให้พูดถึงภาพรวมเรื่องเลนจักรยานกรุงเทพฯ ทั้งหมด ผมว่าไม่รองรับการปั่นของพวกเราเลย โดยเฉพาะเรื่องฝาท่อ ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นตะแกรงแนวขวาง ยังเป็นตะแกรงแนวตั้งอยู่เลยอีกหลายที่ครับ ผมขี่ออกเส้นพระราม 9 ล้อติดฝาท่อมาแล้ว ลงมาแล้ว (หัวเราะเนือยๆ) เพราะว่าล้อจักรยานมันนิดเดียวไงครับ มันอันตรายมากไงครับ คือขี่แล้วล้มมันไม่เป็นอะไรเท่าไหร่หรอก แต่รถที่ตามมามันจะเหยียบเราสิ ในพันทิปที่เคยโพสต์ก็มี ล้อติดท่อแล้วโดนรถเหยียบหัว พวกเรายังไปงานศพกันอยู่เลย
เลนจักรยานในบ้านเราอย่างที่ผมเคยใช้ เส้นสุขุมวิทที่ให้เลนไปอยู่บนฟุตปาธแล้วพื้นถนนก็ไม่ปรับ ไหนเราจะไปขับเบียดกับคนเดินอีก ผมว่าที่คนเดินมันไม่ควรไปทำเลนจักรยานแบบนั้น ไหนจะมีมอเตอร์ไซค์รับจ้างสวนเลนมาอีก แต่ว่าคนที่เขาปั่นก็ยังปั่นกันอยู่นะ ก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ (หัวเราะ) สภาพที่มันจำกัดให้มีอยู่แค่นั้น
การจราจรบ้านเรา ผมมองว่าเลนจักรยานในเมืองน่ะไม่จำเป็นเพราะตามท้องถนน เพราะรถมันก็ไปได้ของมันอยู่แล้ว แค่มีน้ำใจให้กันก็ปั่นไปได้ แต่ถ้าจะส่งเสริมให้คนปั่นจักรยานจริงๆ มันควรที่จะมีห้องอาบน้ำสาธารณะ เวลาคุณปั่นจักรยานไปทำงาน อาบน้ำปุ๊บ เปลี่ยนเสื้อผ้า เข้าทำงานได้เลย และอยากให้มีสนามปั่นที่เป็นของจักรยานจริงๆ มีเลนแยก ปั่นแล้วปลอดภัยจริงๆ”
ไม่ใช่ต้องคอยระแวงกลัว ถูกถีบ-ถูกปล้น-ถูกชน อย่างทุกวันนี้...
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live